Student Fashion Show , สิ่งที่ควรคำนึงถึงลำดับแรกๆ

สิ่งที่ต้องบอกก่อนเลยคือ ความเป็นจริงนั้น ระคายหูระคายสายตา  ทนไม่ได้ก็อย่าอ่านต่อนะครับ

ไม่ได้ตำหนิ ไม่ได้ต่อว่า เป็นการหยิบงานที่มีช่องว่าง สามารถปรับปรุงได้ในงานธีสิส ของตัวน้องๆเอง

อันนี้เป็นมุมมอง ของผู้บันทึกภาพ ไม่ใช่ผู้นั่งชม ฉะนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามแต่บริบท  จะไล่เป็นข้อๆ จะได้รับทราบเป็นจุดๆไป

0. ใครสำคัญที่สุดในงาน – ในการไปร่วมงานแฟชั่นโชว์แต่ละครั้ง ผมมักจะมองว่า งานให้ความสำคัญกับใครเป็นลำดับแรกๆ เช่น แขกวีไอพี แขกทั่วไป หรือ สื่อมวลชน ไม่ใช่เรื่องการเทคแคร์ แต่เป็นเรื่องที่เขาจัดการแสดง ให้ใครดู ใครที่เคยทำเรื่องนี้ จะทราบดีว่า มันยากแค่ไหน ที่จะให้ทั้งสองฝ่ายมองเห็น/มือถือ เก็บภาพทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว โดยไม่บ่น/ราบรื่น
คงจำภาพได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วสื่อมวลชน จะอยู่ปลายรันเวย์ “ทำไม” แล้วสังเกตุไหมว่า ELLE fw เอาวีไอพี ไว้ที่ปลายรันเวย์ร่วมกับสื่อฯ ทำไม เพราะอะไร น่าจะไปลองตีโจทย์ดูนะ, และบางงาน สื่อถ่ายไม่ค่อยได้ ครึ่งตัวบ้่าง มืดไปสว่างไปบ้าง เวทีแสงไม่เท่ากันบ้าง อันนี้เขาให้แขกดู
เวลาน้องๆ จัดงาน ตีโจทย์ก่อน ให้ใครดู ใครให้ผลประโยชน์มากที่สุด เช่น สปอนเซอร์ เงินทุน ผู้ปกครอง อาจารย์ สื่อฯ อันนี้ต้องคิดเอาเอง เวลาจัดหรือวางผัง มันจะออกมาได้ง่ายกว่ามาก

 

1. ไฟเวที – ในสายตาผู้ที่บันทึกภาพ ก็คงให้ความสำคัญกับจุดนี้เป็นอันดับแรกๆ เพราะใช้ในการบันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จัดงานให้คนดู เพราะไฟเกือบทั้งหมด ส่องไปที่หน้าเวที ในขณะที่ทางเดิน มีไฟน้อยมาก

ต่อมาคือ เป็นไฟผสม อาจจะเทคนิคหน่อย แต่เอาง่ายๆคือ ไฟ LED = ไฟอมสีม่วง ไฟถูก สร้างสีได้หลากหลาย แต่นั่นคือ ตามที่ตามองเห็น ไม่ใช่สีที่บันทึกภาพได้ เห็นในมือถือตัวเอง คงทราบดี หยิบขึ้นมาดูได้เลยครับ  ไฟ Par หรือไฟในกระป๋องสีเหลืองอ๋อย นั่นคือ ไฟปกติที่ใช้งานกัน ให้แสงที่ถูกต้อง คนที่บันทึกภาพได้ เขาจับปรับกล้องให้อุณหภูมิสีตรงกัน หรือบางที ก็ติดเจลสีฟ้า ไว้ที่ไฟพาร์ ก็เป็นอันจบ คือแสงขาวสวยงามตามท้องเรื่อง นั่นคือ ไฟที่ดีที่สุด เวลาไปงาน ลองเงยหน้าขึ้นไปมองดู ไฟพาร์กระบอกสีเงิน ติดกระดาษแก้วสีฟ้า นั่นแหละ ทั้งมือถือ และคนบันทึกภาพ ได้ภาพสวยงามทุกฝ่าย  แต่แพง ใช้งบเยอะ

ถ้างบไม่ถึง ให้เลือกสถานที่ โปร่งโล่ง มีแสงธรรมชาติเข้ามาช่วย เช่นใต้ตึก, หน้าต่างบานใหญ่, แต่ไม่กลางแจ้งเด็ดขาด

ลองอ่านบทความเก่าดู ข้อดี ข้อเสีย ของไฟเวที LED & Follow Lighting

2. การดูแลสปอนเซอร์ – เรื่องตัวผมและผู้ใหญ่ในงาน อันนี้ไม่ขาดตกบกพร่องแน่นอน แต่อยากให้ดูแล คนที่มาช่วยแต่งหน้าทำผม อาหารการกิน น้ำดื่ม ไม่ควรขาดและไม่ต้องให้ขอจากน้องๆ อยากให้คิดว่า สปอนเซอร์มาช่วยคือ หน้าละ 1พันบาท กี่คนหล่ะ พวกน้องๆประหยัดไปได้กี่หมื่น สิ่งเหล่านี้คือ น้ำใจตอบแทน  รุ่นน้องๆต่อมา จะไปขอสปอนเซอร์ได้อีกหรือเปล่า คิดให้ดี  แล้วที่ไปขอแล้วไม่ผ่าน เป็นเพราะรุ่นพี่ๆทำงามไว้หรือเปล่า

3. การประชาสัมพันธ์ – หลายคนมั่นใจใน Social Network ที่ช่วยกระจายข่าวได้ แต่กระจายให้ใคร และเป้าหมายที่ต้องการ ได้ไหม หรือแค่ระดับกระจายให้กลุ่มเป้าหมายรู้ รับทราบ และเป้าหมายสนใจงานเราไหม

4. การเชิญแขก บัตรเชิญ – อันนี้ผมไม่ทราบนะ แต่อยากจะบอกว่า เป็นนักศึกษา จบแล้วไปไหนต่อ เปิดแบรนด์เอง, ขายในเน็ต, เรียนต่อ, ทำงานในโรงงาน, ทำงานกับแบรนด์, ฯลฯ  ถ้านั่นคือเป้าหมาย ก็เชิญพวกเป้าหมายมาดูผลงานเรา อยากขายผลงานให้ใคร ก็ให้เขามาดูผลงาน

5. ข้อมูล ผลงาน เครดิต – อันนี้เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญ จะถามหาทุกครั้งจากนักศึกษา ตัวอย่างงานรุ่นพี่ๆ มีให้ดูใน ThaiCatwalk ตั้งเยอะ น่าจะเห็นนะว่า บางอันมีข้อมูลครบ บางอันไม่มีอะไรเลย บางอันเป็นรูปจากหนังสือ

ใครที่มองการณ์ไกล จะรู้ดีว่า อนาคตเวลาทำงาน จะต้องมีคนค้นหาชื่อนามสกุล เพื่อดูผลงานเก่าๆ เหมือนกับที่พวกน้องๆ กูเกิ้ลผลงานคนดัง มีหมดตั้งแต่เรียน น้องๆก็จะปลื้มโน่นนี่นั่น  เครดิตชื่อและผลงานพวกนี้ เขาค้นเจอในลักษณะไหน ตัวอักษรในเนื้อข่าว หรือตัวอักษรที่อยู่บนภาพหล่ะ คิดดู  เมื่อไม่มีข้อมูลส่งมาให้ ผมก็เว้นว่างไว้ เพราะว่า ไม่ใช่หน้าที่ต้องไปตาม ผลประโยชน์ใคร ก็ควรปกป้องกันเอง

6. ฉาก และการตกแต่ง – อันนี้เป็นคำแนะนำละกัน ในกรณีที่อยากแยกเซ็ต หรือธีม หรือแยกโชว์ ก็มีวิธีทำง่ายๆ และประหยัด คือ สร้างความแตกต่าง ในแต่ละเซ็ตออกจากกัน เพื่อที่คนดู และภาพที่ออกมา ดูออกว่า ชุดเสื้อผ้านี้ เป็นของเซ็ตไหน

หลายๆคน มักจะมองไปที่ โชว์ใหญ่ๆ กองภูเขาดอกไม้, โรงโอเปร่า, บ้านนา  ไม่ต้องขนาดนั้น มองใกล้ๆเข้ามา ลองมองแฟชั่นวีคบ้านเรา ส่วนใหญ่พื้นฉากดำ แต่ทำไมรู้ว่า โชว์ไหนเป็นของใครแบรนด์อะไร เพียงแค่หยิบ accessories หรือ Prop มาวางบนทางเดิน หรือประดับบนฉาก เพียงเท่านี้ก็ทำให้แยกออกได้ทันที

คิดว่าคงเพียงพอ ในการเอาไปปรับในช่วงงาน Thesis

สำหรับภาพนิ่ง ยังพอเอาภาพที่ดีลง ภาพที่ไม่เหมาะก็เอาออก  แต่ตอนนี้มี Poppory Fashion Blog มาช่วยพลักดันยกระดับสังคมแฟชั่นไทย และเขาลงงานบันทึกต่อเนื่องไม่ตัด คงเดาได้แล้วนะครับ ว่า ภาพทั้งช่วงจะออกมาเช่นไร และจะออกสู่สายตาคนทั้งโลก ผ่าน YouTube

จบเหมือนเดิม ความจริงย่อมระคายหู รับไม่ได้

Published by Jade-ThaiCatWalk

Editor - ThaiCatwalk.Com and Runway Photographer PR, Brand Acknowledgement, Advertorial