กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับแบรนด์ไทย WISHARAWISH จัดงานแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ กับคอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย “จากแดนไกล” ในโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2562

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในงานหัตถกรรม
การทอผ้าของคนในชุมชน ที่เป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2562 (Taproot Thai Textile) พร้อมจัดงานแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนทางวัฒนธรรม และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวผ่านมิติผ้าไทย รวมไปถึงส่งเสริมศิลปินพื้นบ้านและเครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทอผ้าไทย ได้เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมบนรากฐานของวัฒนธรรม ในชุมชนให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาสร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากการพัฒนาชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้าให้เป็นต้นแบบในเรื่องการทอผ้าแล้วยังมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์ผลักดันนักออกแบบ และผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งในระดับ ประเทศและต่างประเทศ

Click here to Google Photo Gallery

 “จากแดนไกล” คอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัยล่าสุดของแบรนด์ “WISHARAWISH” ออกแบบรังสรรค์ผลงานโดย
วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ ซึ่งคอลเลกชั่นนี้ผ่านการออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายแต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิค หยิบยกเอาความงามและความละเมียดละไมของผืนผ้าไทยทอมือทั้งหลายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งวัสดุหลักก็คือบรรดาผืนผ้าที่วิชระวิชญ์ได้เลือกใช้ถึง 7 ชนิด จากผู้ประกอบการท้องถิ่น 7 ท่าน จากมุมต่างๆ ของ ประเทศไทยที่เขาได้เดินทางไปร่วมงานและได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ร่วมกันออกมานับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาผ่านการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการสนับสนุนและพัฒนาผ้าไทย

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กล่าวว่า “ผมเชื่อมาตลอดว่าเวลาเราออกแบบก็เหมือนเราทำอาหาร ถ้าวัตถุดิบดีเราไม่จำเป็นต้องปรุงรสเยอะ เริ่มต้นคือพอได้รับมอบหมาย ก็ลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ 7 พื้นที่ และดึงเอารากเหง้าที่เขามีอยู่แล้วมาต่อยอด เอาการออกแบบเข้าไปพัฒนา ทำอย่างไรให้มันทานได้ง่าย ทุกที่มีผ้าที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน อย่างเช่น สุรินทร์ มีผ้าไหมยีนส์ ที่ซักได้ง่ายและเข้ากับกลุ่มตลาดที่รักงานเดนิม หรือผ้าขาวม้าของอิมปานิ
จ.ราชบุรี ที่เลือกรูปแบบการใช้สีให้เข้ากับตลาดสากลได้ โดยในระหว่างที่พัฒนาโครงการก็ได้รับเชิญจากโตเกียวแฟชั่นวีค และนำผลงานบางส่วนที่ทำไปแล้วส่วนหนึ่งไปแสดงที่นั่น ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะเราไม่คิดว่าคนในวงกว้างหรือชาวต่างชาติจะสนใจ และมีออเดอร์ คนจีนก็มีออเดอร์ผ้าของอิมปานิไป หรือผ้าบาติกของปัตตานีเองญี่ปุ่นก็สั่งผลิต ตอนนี้ก็ส่งไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะมีการจัดสัมมนาวิชาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล   และจะมีนิทรรศการที่เซ็นทรัลเวิลด์  ซึ่งหวังว่าผู้ประกอบการจะได้นำผลผลิตจากโครงการนี้ไปต่อยอด แต่ในขณะเดียวกันในฐานะนักออกแบบ ผมก็จะช่วยพัฒนาผ้าไทยต่อไปครับ”

 ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการฯ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขา
การบริหารและพัฒนาในเรื่องของผ้าไทยพื้นถิ่นที่สืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการสรุปข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล พิจารณาคัดเลือกและลงพื้นที่ชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า จำนวน 7 ชุมชน ใน 5 จังหวัดที่มีความ
โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องการทอผ้า การออกแบบลายผ้า เส้นใยผ้า ตลอดจนวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ทอผ้า เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การต่อยอดที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพต่อยอดทางภูมิปัญญา ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่

– ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี
– ผ้าฝ้ายทอมือ คอตตอน ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่
– บาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี
– ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพย์ จังหวัดขอนแก่น
– ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น
– ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น
– ผ้าไหมยีนส์ เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์

Published by Banhan

Runway & Event Photographer, Kid Lover Canon 1D mk III, 7D and Prime Lens