ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการ เป็นความรู้สึก ฉะนั้นใช้เป็นบรรทัดฐานมิได้ขอรับ

จากที่ได้ถ่ายงานในหลายเวที และหลายประเทศ ก็มีการใช้ไฟในหลากหลายลักษณะ แต่งานผมเป็นงานแฟชั่นโชว์ มิใช่ Concert  ความแตกต่างของงานสองแบบนี้คือ แฟชั่นโชว์เน้นไปที่การโชว์เสื้อผ้า การออกแบบ ไฟต้องนิ่ง เพื่อ “การขายของ” คนดูมองเห็นชัดเจน  ในขณะที่การแสดงบนเวทีหรือ concert เป็นการเคลื่อนไหวประกอบเพลง ต้องมีแสงสีประกอบวิ่งไปมา ปรับเปลี่ยนสีตลอดเวลา สร้างความสนุกสนาน

ไฟที่นำมาใช้ ก็มีหลายแบบ เอาเท่าที่ผมรู้จัก ก็มี Par or Bar Lighting เป็นไฟนิ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นเห็นกระบอกสีเงินหรือสีดำ แสงออกมาสีเหลือง บางครั้งก็ใส่เจลสีฟ้าไว้ด้านหน้า เพื่อปรับให้เป็นแสงขาว (แก้สี),  ไฟวิ่ง หมุนไปมา ใส่ชื่อหรือรูปโลโก้ได้, LED (light-emitting diode) ไฟปรับสีในตัวได้ นิยมใช้ในตอนนี้ (ม่วงๆ), Following lighting หรือไฟฟอลโล อันใหญ่ๆ ไว้ส่องจากปลายเวทีไกลๆ กำลังแรง และอื่นๆที่ไม่รู้จัก

ก่อนติ ก็ต้องมีชมกันก่อน  ในงานที่ผ่านมา Getz Homme (กดชื่อได้เลย)  เชื่อว่ามีการจัดไฟแบบนี้มาก่อนแล้ว เพียงแต่ผมไม่เคยเจอ ตามภาพด้านล่าง

เนื่องจากเป็นทางยาว และแขวนไฟด้านบนไม่ได้มี โคมไฟระย้า จึงต้องใช้ไฟตั้ง ตั้งไว้ปลายสุดของทางเดิน เป็นแผงใหญ่ๆ หลายดวง  ตอนแรกเข้าใจว่า ไฟต้องแรง และรวมศูนย์ หมายถึง ยิ่งเดินเข้ามาใกล้ๆ ไฟจะยิ่งแรง ปรากฏว่า เป็นการวางไฟ เพื่อให้ไฟไปตกตามจุดทางเดินจากกลางเวที ไล่ถึงปลายเวที และได้ไฟ”คงที่” คือ เดินเข้ามาใกล้ปลายเวที ไฟก็ไม่แรงตามที่คิด เป็นการจัดวางไฟที่เยี่ยมมาก

LED lighting (light-emitting diode) สังเกตุง่ายๆ ไฟจะออกแสงสีม่วงๆ ถ่ายจากมือถือ หรือกล้อง ก็จะเป็นสีม่วง

ข้อดี – สร้างสีได้หลากหลาย ไม่ใช่สีเดียว เหมือนไฟพาร์ ทำให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว คือไฟไม่นิ่ง คนมางานก็ชอบ คนจ้างก็ชอบ  ลักษณะเป็นไฟรวมศูนย์ คือบังคับทิศทางได้ ไม่แผ่กระจายเป็นวงกว้าง ปรับความเข้มข้นของแสงได้ (แต่เข้าใจว่า คงมีหลากหลายระดับคุณภาพแและราคา)

ข้อเสีย – ภาพม่วง แม้ว่า การจัดแสงสามารถตั้งค่า ให้เป็นสีขาว แต่การถ่ายภาพ ก็ยังคง “ม่วง” ตามภาพด้านล่าง  เข้าใจว่าคงเป็นเรื่องความถี่ของแสง ตามองว่าขาวแล้ว แต่ถ่ายมาก็ยังม่วง บางงานม่วงมาก แก้ด้วยกล้องและโปรแกรมก็ยาก และไม่ใช่หน้าที่เราต้องมาแก้ด้วย  งานวีดีโอสมัยใหม่ ใช้กล้อง DSLR ภาพที่ได้ก็จะม่วงเช่นเดียวกัน

บางคนบอกว่าใช้ Flash กล้องยิงเพื่อล้างแสงสีม่วง  บางครั้งก็ทำได้ บางครั้งก้ทำไม่ได้ เพราะความเข้มข้นแสงต่างกัน ยิงแฟลชแรงๆ ทำได้ แต่แขกร่วมงานคงไม่ชอบเท่าใด

Following Lighting ไฟฟอลโล ใหญ่มีขาตั้ง และคนบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่ จะให้ผู้น้อยบังคับ แต่งานความสำคัญระดับใหญ่ ส่องผิดตำแหน่ง ก็จบข่าว

ข้อดี ขับเน้น พิธีกร บนเวที หรือ สร้างจุดเด่นบนเวที ในช่วงที่แสงเวทีไปไม่ถึง,  มีแผ่นเจลสี สร้างสีบนเวทีได้,  กำลังแสงแรง ส่องจากที่ไกลๆก็ยังไม่มีปัญหา

ข้อเสีย ทำลายสีของเสื้อผ้า และผิวของแบบ ให้ซีดลง (Color Fade down) รวมถึง คุณภาพแสงไม่คงที่ ทำให้เกิดสีที่ไม่เท่ากันตลอดช่วง ดังภาพด้านล่าง ถ่ายภาพติดกัน แต่ได้สีผิวที่ต่างกันมาก

และถ้าคนบังคับ ทำไม่ดี ไฟก็จะกระจายไม่ทั่วทั้งตัวแบบ ไฟกลมจะส่องเฉพาะส่วนที่โดนไฟ และมืดในส่วนนอกเหนือจากนั้น  หน้าก็จะผ่องใสสว่าง ส่วนของนอกไฟก็จะมืดลง

มีหลายงานที่นิยมใช้ ไฟฟอลโล รวมถึงเมืองนอก  ทุกครั้งที่ผมเห็นตอนซ้อมและใช้งาน ผมจะถ่ายภาพแล้วไปบอกเจ้าของงาน ให้เห็นภาพก่อน และอธิบายให้เข้าใจว่า ไม่ควรใช้ เพราะจะทำลายสีเสื้อ และให้สีไม่ตรงตามความเป็นจริง การตัดสินใจอยู่ในดุลพินิจของผู้จัดงาน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าใช้ไฟฟอลโล ในสายตาคนนั่งชม จะเห็นไว่า สวย ดูโดดเด่น ยิ่งถ้าเป็นเครื่องเพชร จะขึ้นประกาย

จึงต้องชั่งน้ำหนักว่า จะให้แขกชม หรือจะให้บันทึกภาพ  ถ้าถามผมในทางเลือก ผมเลือกตั้งเสาไฟพาร์ใกล้เวที หรือหลังผู้ชมหน่อยนึง  หรืออาจจัดพื้นที่สำหรับสื่อบันทีกภาพนิ่งและวีดีโอ  ถ้าเป็นทางตรง ก็ให้ไฟฟอลโลหรือ LED แสงสีเปลียนให้เต็มที่ช่วงออกเดิน ถึงกลางรันเวย์  จากนั้นเป็นไฟนิ่งให้บันทึกภาพ ก็จะได้ทั้งผู้ชมแขก และสื่อ ซึ่งหลายๆงานก็จัดแบบนี้ งานออกมาสวยงาม

สุดท้าย ไม่ได้ต้องการตำหนิอะไรใคร เพียงต้องการงานที่ออกมาดูดีที่สุด เพื่อให้ได้ภาพที่สวยที่สุด

Published by Jade-ThaiCatWalk

Editor - ThaiCatwalk.Com and Runway Photographer PR, Brand Acknowledgement, Advertorial