KINETIC JEWELRY
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกแฟชั่นจุฬาฯ คนแรกของประเทศที่ใช้แนวคิด Kinetic ในการสร้างสรรค์เครื่องประดับเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนได้จากทุนวัฒนธรรมไทย

23 April 2018 @ Biff & Bil 2018, BiTec

ณ ปัจจุบันขอบเขตของงานแฟชั่นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรืองานสิ่งทอเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายอาทิเครื่องหนัง เครื่องประดับ ตลอดจนสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่บ่งบอกถึงตัวตนและบุคลิกลักษณะของบุคคล

Click here to Google Photo Gallery

นิทรรศการ “INNOVATIVE KINETIC JEWELRY DESIGN FROM THAI CULTURAL CAPITAL” เกิดขึ้นภายใต้การศึกษาวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับเคลื่อนไหวจากแนวคิดทุนวัฒนธรรมไทยที่เคลื่อนไหวได้” วิทยานิพนธ์ระดับศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต โดย พสุ เรืองปัญญาโรจน์ ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2561 ณ งานแสดงสินค้า STYLE 2018 (ศูนย์ประชุมไบเทค) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นต้นแบบแนวทางที่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับแฟชั่น จากการหยิบยกผสมผสานทุนทางวัฒนธรรมให้ประจักษ์เป็นรูปธรรมและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความมุมานะ ความพยายามของผู้วิจัยรวมทั้งศักยภาพของนักออกแบบรุ่นใหม่ ในการพัฒนาวงการศึกษาและการออกแบบให้ก้าวไปข้างหน้า

จากการศึกษาศิลปะวัฒธรรมไทยมาเป็นเวลา 4 ปี สอดผสานให้เกิดผลงานการออกแบบเครื่องประดับเชิงสร้างสรรค์ในมิติใหม่ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างกลไกการเคลื่อนไหว (Kinetic) และทุนวัฒนธรรมไทยประเภทหุ่นละครไทย (Thai puppet) ก่อเกิดเป็นเครื่องประดับรูปแบบใหม่ ที่มีการผสมผสานนวัตกรรมและกลไกการเคลื่อนไหว หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน อีกทั้งยังคงกลิ่นอายของความเป็นหุ่นละครไทยในรูปแบบร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้เครื่องประดับในชื่อคอลเล็คชั่น “HERITANGABLE” ซึ่งมีความหมายว่า มรดกที่สัมผัสได้ โดยมี Key word ที่สำคัญในการออกแบบ 3 Key words ได้แก่ 1.Movement (กลไกการเคลื่อนไหว) 2.Oriental (ศิลปะตะวันออก) และ 3.Transformation (การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน)

เมื่อนำ Key word ทั้งสามมาประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นเครื่องประดับที่มีนวัตกรรมการเคลื่อนไหว และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย โดยสามารถใช้งานได้ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนรูปทรง สี หรือพื้นผิว รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนประโยชน์ทางด้านการใช้งาน ตั้งแต่ แหวน กำไร ต่างหู สร้อยคอ และ เข็มกลัด ฯลฯ

สิ่งนี้ส่งให้เครื่องประดับสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างลงตัว ในทุกสถานการณ์ ทั้งยังมีรูปแบบโครงสร้างที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหุ่นละครไทย ที่มีการพัฒนารูปทรงโครงสร้างให้มีความร่วมสมัย และเข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ถือเป็นการนำเอาผลงานการวิจัยเชิงสร้างสรรค์มาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างลงตัวและเป็นรูปธรรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

ผลงานการวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับเคลื่อนไหวจากแนวคิดทุนวัฒนธรรมไทยที่เคลื่อนไหวได้” เป็นวิทยานิพนธ์ ศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Faculty of Fine and Applied Arts, Chulalongkorn University) โดย พสุ เรืองปัญญาโรจน์ ซึ่งมี รศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล (Assoc. Prof. Dr. Patcha Utiswannakul) เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และได้รับการสนับสนุนพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (Department of International Trade Promotion, Ministry of Commerce, Thailand.)

Published by Tony

Runway Photographer, Seminar & Group Photographer, Vegetarian Guy & Dhamma, Good Work, Nice Guy