KOI SUWANNAGATE

http://www.koisuwannagate.com/

Interview by FOXY LADY

การสัมภาษณ์คุณ “ก้อย สุวรรณเกต” ในครั้งนี้เนื่องในโอกาศที่คุณก้อย ได้มาเป็นวิทยากรบรรยายใน งาน “Creative Industries” ซึ่งเป็นงาน ที่ทางกรมส่งเสริมการส่งออก ได้จัดขึ้นในวันที่ 23-30 มิถุนายนที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาศเข้าสัมภาษณ์คุณก้อย ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะคุณก้อย ค่อนข้างมีคิว ที่ต้องให้สัมภาษณ์ยาวมาก แต่คุณก้อยก็ได้ให้โอกาศสัมภาษณ์กับทาง “ThaiCatwalk”ได้อย่างเต็มที่ในเวลา เท่าที่จำกัด ขณะที่ดิฉัน สัมภาษณ์อยู่หนังสืออื่นๆ ก็มาจ่อคิวแล้ว ต้องขอขอบคุณคุณ”ก้อย สุวรรณเกต”และทางกรมส่งเสริมการส่งออกไว้ณ.ที่นี้ด้วยค่ะ

TCW : การเริ่มต้นคอเลคชั่นใหม่ในแต่ล่ะครั้ง คุณก้อยจะเริ่มต้นด้วยขั้นตอนไหนก่อนค่ะ ?

ก้อยเป็นคนที่ไม่ได้ทำพวกงานสตอรี่บอร์ดเหมือนคนอื่นๆ แล้วก็ไม่ได้สเก็ตช์ค่ะ ก้อยเริ่มจากงานที่ใช้ผ้าขึ้นหุ่นไปเลย แล้วตัด, แต่ง, เติมแก้ไข ไปเรื่อยๆจนกว่าจะพอใจค่ะ

TCW : ในแรงบันดาลใจคุณก้อยมีชอบอะไรเป็นพิเศษไหมค่ะ ?

งานของก้อยส่วนใหญ่จะเป็นงานแบบ “Organic From” แล้วจากผลงานในช่วงแรกๆ เมื่อ 8ปีก่อน ของก้อย เป็นงานที่เกี่ยวกับดอกไม้ ซึ่งในช่วงตอนนั้น ยังไม่มีใครเอารูปแบบของดอกไม้ มาทำในงานแบบ 3มิติ ก็เลยทำให้ดอกไม้กลายเป็น “Signature” อย่างหนึ่งของก้อยไปค่ะ รวมไปถึงลูกค้าก็ชอบด้วยค่ะ แต่ในคอเลคชั่นต่อไป รูปแบบของดอกไม้คงลดน้อยลงไป แต่ยังคงมีไว้ค่ะ

TCW : คุณก้อยทำงานที่บ้านหรือที่บริษัท แล้วตัวบริษัทของคุณก้อยอยู่ที่ไหนค่ะ ?

ก้อยทำงานในสตูดิโอของก้อยเองค่ะ ซึ่งในนั้นเป็นทั้งที่ทำงานออกแบบและโรงงานผลิตด้วยค่ะ อยู่ไกล้ๆย่านดาว์นทาวน์ในแอลเอค่ะ

New York Fall/Winter 2009-2010 Presentation

TCW : พวกวัสดุที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจากไหน? การผลิตมีโรงงานของตัวเองหรือปล่าวค่ะ ?

ส่วนมากวัสดุพวก “Cashmere” จะเป็นของเก่าที่นำมา “Recycle” ซึ่งก้อยได้มาจากหลายๆที่ แต่ทางเราเอามารื้อออกมาทำความสะอาดใหม่ ทั้งหมดค่ะ ส่วนพวกผ้าอื่นๆ อย่างผ้าไหม ก้อยใช้ผ้าไหมที่หาได้ของในอเมริกาเองค่ะ แต่ถ้าในคอเลคชั่น มีที่ต้องใช้ผ้าที่พิเศษ และแตกต่าง ออกไปจากนี้ก็จะสั่งมาจากที่อื่นๆ อย่างอิตาลี หรือฝรั่งเศสค่ะ ส่วนใหญ่แล้วตอนนี้ ก้อยจะพยายามใช้ของที่หาได้ในอเมริกาค่ะ ส่วนใหญ่แล้วงานผลิตทั้งหมด 85% เราผลิตได้เองค่ะ คือ เราทำได้เองเกือบทุกอย่างค่ะ

TCW : ในตัวบริษัทของคุณก้อยมีคนไทยทำด้วยไหมค่ะ? มีผู้ช่วยดีไซน์เนอร์ไหมค่ะ? เด็กที่มาฝึกงานจาก โรงเรียนออกแบบ มีไหมค่ะ ?

มีค่ะ เป็นช่างเย็บมีทั้งเป็นช่างที่อยู่ประจำ แล้วก็มีมารับเป็นงานๆ ไป เป็นคนไทยที่นั่นทั้งหมดค่ะ แล้วก็มีผู้ช่วยมีทั้ง คนอเมริกัน และญี่ปุ่นค่ะ แต่ถ้าเป็นผู้ช่วยดีไซน์เนอร์ ในส่วนที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เป็นคนอเมริกันค่ะ ส่วนเด็กที่มาฝึกงานแบบจากที่มาจากโรงเรียนดีไซน์ ที่เป็นคนไทยในแอลเอยังไม่มีค่ะ.. ยังไม่เคยเจอเลยค่ะ แต่มีเด็กที่เรียนดีไซน์ที่นิวยอร์คเป็นคนไทย จะมาช่วยทำงานแบ็คเสตจ, สไตล์ลิสต์ เวลามีโชว์ที่นิวยอร์ค่ะ เวลามีโชว์ที่นิวยอร์ค แบ็คเสตจของก้อยจะเป็นคนไทยทั้งหมดค่ะ

TCW : การทำโชว์หรือ Presentation ในแต่ล่ะครั้งยากง่ายขนาดไหนค่ะ ?

คือก้อยเริ่มมาจากงานแบบ “Presentation” ค่ะ หลังจากนั้นอีกสองซีซั่น ก็เป็นงานแคตวอร์ค แล้วก็กลับมาทำแบบ “Presentation”อีก ซึ่งหลายๆ คนบอกกับก้อยว่า งานของก้อยเหมาะที่จะทำโชว์แบบ “Presentation” มากกว่า เพราะว่างานของก้อยส่วนใหญ่ เป็นงานที่มีดีเทล มีส่วนที่เป็น งานแบบแฮนด์เมดเยอะ ซึ่งถ้าเป็นแฟชั่นโชว์แบบแคตวอร์คซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาทีแล้วก็จบไป คนที่ดูทั่วๆไป ก็จะไม่สามารถเห็นรายละเอียด ในส่วนต่างๆได้ค่ะ ซึ่งต่างกับที่เราจัดโชว์แบบ “Presentation” เพราะคนที่เข้ามาดูงานของเราจากสื่อต่างๆ สามารถจับต้องดูเสื้อผ้าได้อย่างไกล้ชิด รวมถึงสามารถถามรายละเอียดต่างๆ จากเราได้ว่า งานคอเลคชั่นนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร ทำให้คนที่เข้ามาชม ได้มีความรู้สึกว่า มีส่วนร่วมในโชว์ได้มากกว่าค่ะ ส่วนความแตกต่างของทั้งสองอย่าง คือ เวลาเราจัดงานโชว์แบบ “Presentation” ผ่อนคลายกว่า มันจะไปของมัน เรื่อยๆ อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3ชั่วโมง ต่อโชว์แล้วแต่ค่ะ หลังจากที่เราแต่งตัวให้นางแบบ ดูรายละเอียดต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น เราก็คอยต้อนรับแขกที่มาอย่างเดียว ซึ่งต่างจากงานแบบแคตวอร์ค ที่ทุกอย่างต้องดีหมด, ทุกอย่างจะเร่งรีบแล้วออกมาเปรี้ยงเดียว แล้วจบเลย แต่ทั้งมีข้อดีที่แตกต่างกัน แล้วแต่ที่เราจะเลือกให้เหมาะกับ คอเลคชั่นของเราค่ะ แต่จากที่ก้อยทำมาสิ่งที่ตอบรับดีกว่า คือ โชว์แบบ “Presentation” ค่ะ คือ เราสามารถรู้ถึงเสียงตอบรับ จากคอเลคชั่นนั้นๆ จากสื่อโดยตรงณ.วินาทีนั้น ซึ่งถ้าเป็นงานแบบแคตวอร์ค เราจะไม่รู้อะไรเลยจนกว่า คำวิจารณ์ผลงานจะออกมาตามสื่อต่างๆ หลังจากโชว์ได้จบไปแล้วซักระยะนึง

Fall/Winter 2009-2010 Look Book

TCW : การทำโชว์ในแต่ล่ะครั้งคุณก้อยเป็นคนคิดทุกขั้นตอน (การเลือกนางแบบ, เพลง) หรือคนในทีมงาน หรือจ้างบริษัทอื่นๆ ทำค่ะ ?

อาร์ต (คุณ อารยะ อินทรา) ค่ะ คุณอาร์ตเป็นคนช่วยก้อยทำในส่วนนี้ตั้งแต่แรก จนเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของแบรนด์ไปแล้วค่ะ โดยที่ก้อย จะส่งเสื้อผ้ามาให้เขาที่นี่ แล้วเขาก็จะดูเรื่องสไตล์ลิ่งให้ คือ ก้อยเรียนโรงเรียนเดียวมากับ อาร์ตค่ะ เขาจะรู้ว่าความต้องการของก้อย คือ อะไร ในการทำ “Presentation” ในแต่ล่ะครั้งเราจะมีพีอาร์ จะมีลิสต์รายชื่อไว้ว่า ใครจะมาตอนกี่โมง แล้วก้อยก็จะเตรียมตัว แขกจะมาตามเวลา ที่อยู่ในลิสต์ โชว์ของก้อยจะรับแต่พวกบรรณาธิการอย่างเดียว โดยก้อยจะมีเวลาคุยประมาณ 20นาทีต่อคน พีอาร์ที่เราใช้จะจ้างมาค่ะ แล้วแต่ว่าจะจ้างเป็นรายเดือน หรือจะจ้างเฉพาะเป็นงานๆไป

TCW : นางแบบคนไทยส่วนใหญ่มาจากคุณก้อยเลือกผ่านโมเดลลิ่ง? (ฟลอเรนซ์, สตางค์) วิธีการเลือก ?

เป็นคนเลือกเองค่ะ เพราะก้อยคิดว่านางแบบไทยสวยไม่แพ้นางแบบฝรั่ง คือทุกครั้งที่มีโชว์จะมีนางแบบไทยค่ะ

TCW : Spring/Summer 2010 จะมีเป็นโชว์เป็นแบบแคตวอร์ค หรือเป็นแบบ “Presentation” ที่นิวยอร์ค แล้วแนวทางเป็นยังไง พอจะบอกได้ไหมค่ะ ?

คงเป็นโชว์แบบ “Presentation” ค่ะ แต่ที่คิดไว้ขนาดของงานจะใหญ่กว่าที่เคยทำมา จากที่เคยใช้นางแบบ 5คนอาจใช้นางแบบประมาณ15คน แล้วจะเป็นงานแบบที่มีบรรยากาศของซัมเมอร์น่ารักๆ จะมีเชิญแขกประมาณ200-300คน ที่จัดที่คิดไว้อาจจะเป็นในสวน แต่อาจจะไม่ใช่สวน ที่อยู่กลางแจ้งน่ะค่ะ เพราะช่วงที่จัดนิวยอร์คจะมีฝนตกค่ะ คงจัดงานในสวนที่เป็นแบบอินดอร์ แล้วบรรยากาศดูคล้ายๆ ปาร์ตี้เล็กๆ ในสวน ส่วนเสื้อผ้าในคอเลคชั่นนี้ก้อยคิดไว้ว่า จะนำฟอร์มของผลไม้ไทยมาทำค่ะ

Florence Faivre & Stang @ New York Fashion Week Spring/Summer 2009

TCW : คุณก้อยมีคอเลคชั่น Resort เหมือนคนอื่นๆไหม? และของ 2009 คือคอเลคชั่น Resort ครั้งแรกรึปล่าวค่ะ ?

มีค่ะ แต่ของ 2010 ก้อยจะรวมเข้าไว้อยู่กับ สปริงค์ซัมเมอร์ไปเลย คือ มีโชว์พร้อมกัน แต่ส่วนที่เป็น “Resort” จะมีออกมาขายก่อน ประมาณ เดือนกันยา หรือ ตุลา ส่วนของสปริงค์ซัมเมอร์จะเริ่มออกขายในเดือนมกราค่ะ คอเลคชั่นของก้อย เมื่อโชว์จบ ก็จะขายเสื้อผ้าที่โชว์ ทั้งหมดเลยค่ะ ในวันรุ่งขึ้นประมาณ 7วัน ส่วนออร์เดอร์จากลูกค้า จะมาส่วนใหญ่ จะอีกประมาณ 1เดือนถึงจะเข้ามาค่ะ ทางก้อยมีเวลาผลิต ประมาณ 3เดือน สำหรับออร์เดอร์ค่ะ

TCW : คุณก้อยมีโครงการเกี่ยวกับสินค้าไลน์อื่นๆ นอกจากเสื้อผ้าอีกไหมค่ะ ? (แว่นตา, เครื่องประดับ.. ฯลฯ)

มีค่ะ ก้อยมีสินค้าเสื้อผ้าอีกตัวหนึ่งค่ะชื่อว่า”ลาวัลย์”(Lawan) ก้อยทำร่วมกับ “Anthropologie” ซึ่งเป็นร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิงของที่อเมริกา ตัวสินค้าจะมีแนวคิดคล้ายๆ ของก้อยตัวเดิม แต่สินค้าจะทำจากวูลผสม แล้วราคาถูกกว่าของก้อยประมาณครึ่งนึง สินค้าตัวนี้ จะเริ่มมีออก มาวางขายช่วงประมาณคริสต์มาสปีนี้เป็นคอเลคชั่นแรกค่ะ

Resort 2009

TCW : คุณก้อยมีเสื้อขายในเมืองไทยไหม? ทำไมถึงไม่มี เคยมีหรือคิดจะมีคอเลคชั่นในเมืองไทยไหมค่ะ ?

ร้านโดยตรงไม่มีค่ะ แต่ตอนนี้ก้อยกำลังมีโครงการที่จะนำคอเลคชั่นกลับมาโชว์โดยทางกรมส่งเสริมการส่งออกติดต่อมาค่ะ

TCW : มีดีไซน์เนอร์คนไหนที่ที่คุณก้อยชอบเป็นพิเศษไหมค่ะ ?

มีค่ะ จริงๆก้อยมีชอบหลายคนค่ะ แต่ที่ก้อยชอบมากก็มี “Dries Van Noten” ค่ะ ที่ก้อยชื่นชมเขา เพราะเสื้อผ้าเขาเป็นศิลปมากกว่า การค้า เสื้อผ้าเขาไม่ได้ตามแฟชั่น หรือกระแสต่างๆ ผู้หญิงของ”Dries Van Noten” ดูเป็นผู้หญิงที่ฉลาด มีความคิดอ่าน และเป็นตัวของตัวเอง และไม่ตามแฟชั่นค่ะ

** การนำบทความไปใช้ กรุณาให้เครดิตผู้สัมภาษณ์ โดยลิงค์กลับมายังต้นแหล่งข่าว **

—————————————————————–

Designer Profile :
-ก้อย (นันทิรัตน์) สุวรรณเกต เกิดที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัย ศิลปากร สาขาภาควิชา มัณฑณศิลป์

-พ.ศ. 2545, เปิดตัวผลงานการออกแบบครั้งแรก

-พ.ศ. 2550, จัดงานแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งแรกในงาน New York Fashion Week 2007, เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลนักออกแบบหน้าใหม่ ที่น่า จับตามมองประจำปี (CFDA/Vogue Fashion Fund Award) จาก Council of Fashion Designer America (CFDA) และนิตยสาร Vogue

-พ.ศ. 2552, ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสิบ Spring/Summer 2009 ยอดเยี่ยมประจำปี จากนิตยสาร WWD Women’s Wear Daily สื่อแฟชั่นที่ ทรงอิทธิผล

แนวทางการออกแบบ และการทำงาน
-ลักษณะที่โดดเด่น และแสดงเอกลักษณ์ในงานออกแบบของ ก้อย สุวรรณเกต คือการผสมผสานงานศิลปะ และงานฝีมือที่ปราณีต และเต็มไปด้วยรายละเอียด ที่สะท้อนถึงตัวตนของ ก้อย สุวรรณเกต ได้รับแรงบันดาลใจจากสวยงามของธรรมชาติ บวกกับ ความชื่นชมในความอ่อนช้อยของรูปร่างผู้หญิง ก้อย สุวรรณเกต ได้รับการยอมรับเป็นที่รู้จัก และนับถือในวงการแฟชั่นระดับโลก จากการนำผ้าแคชเมียร์มาประยุกต์ใหม่ ในลักษณะที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

-ผลงานทุกชิ้น ถูกถ่ายถอดออกมาอย่างละเอียดอ่อนด้วยความตั้งใจ รายละเอียดการตกแต่ง ในงานออกแบบแต่ละชิ้นนั้น ล้วนทำด้วยมือทั้งสิ้น ก้อย สุวรรณเกต ได้ประยุกต์งานฝีมือและ งานช่างแบบไทยๆ เข้ากับผลงานแต่ละชิ้นได้อย่างลงตัว ซึ่งได้สร้างจุดเด่นให้กับผลงาน เป็นที่ยอมรับ และชื่นชมอย่างกว้างขวางในแวดวงแฟชั่นระดับโลก

-ในทุกๆ คอลเลคชั่น ก้อย สุวรรณเกตุ ได้พยายามสอดแทรกความเป็นไทยลงไปในงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบลายผ้า ลายพิมพ์ เครื่องประดับ สีสันที่เลือกใช้ โดยปรับเปลี่ยนให้ตามสมัยนิยม แม้แต่ภาพถ่ายการแสดงแบบ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ในระดับนานาชาติ

-นอกจากนั้น ก้อย สุวรรณเกต ได้ร่วมมือกับศิลปิน และทีมงานชาวไทยอีกหลายท่าน ในการสรรค์สร้างงานแสดงแฟชั่นทุกๆ ครั้ง อาทิเช่น ช่างภาพ สไตล์ลิสต์ และนางแบบชั้นนำ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความตั้งใจจริงของ ก้อย สุวรรณเกต ในการผลักดัน ความสามารถของชาวไทย สู่สายตาชาวโลก ก้อย สุวรรณเกต ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริม และอนุรักษ์ศิลปะดั่งเดิมของไทย ไม่ให้สูญหาย โดยการนำเสนอสู่สายตา ของสื่อมวลชนโลก

Published by Jade-ThaiCatWalk

Editor - ThaiCatwalk.Com and Runway Photographer PR, Brand Acknowledgement, Advertorial