มิสเวิลด์ออร์แกไนเซชั่น นำโดย นางจูเลีย มอร์ลีย์ ประธานและซีอีโอ ประกาศอย่างเป็นทางการว่า การประกวดมิสเวิลด์ครั้งที่ 69 รอบสุดท้าย จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการประกวดมิสเวิลด์ที่จะยกเทศกาลและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการประกวดรอบชิงชนะเลิศซึ่งใช้เวลาทั้งหมดรวมหนึ่งเดือนมาจัดขึ้นในประเทศไทย
ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้น ณ พระราชวังพญาไท กรุงเทพมหานคร นางจูเลีย มอร์ลีย์ กล่าวว่า “ดิฉันดีใจมากที่ได้รับเชิญให้มาจัดเทศกาลประกวดมิสเวิลด์ 2019 รอบชิงชนะเลิศในประเทศไทย ด้วยวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและความเป็นมิตรไมตรีของคนไทย ‘สยามเมืองยิ้ม’ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าภาพต้อนรับและดูแลตัวแทนสาวงามผู้ประกวดมิสเวิลด์จาก 130 ประเทศในปีนี้”
มิสเวิลด์เป็นการประกวดนางงามระดับนานาชาติที่จัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลกนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) และมีความแตกต่างจากเวทีประกวดนางงามอื่นๆ เพราะเป็นเวทีที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทั่วโลกรวมถึงเปิดโอกาสให้หญิงสาวนับพันคนได้มาร่วมกันสร้างความตระหนักด้านมนุษยธรรมและระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ยากจน ผู้ป่วย และผู้ด้อยโอกาสทั่วโลก ผ่านโครงการ Beauty With A Purpose (งามอย่างมีคุณค่า) ในทุกๆ ปี องค์กรมิสเวิลด์ออร์แกไนเซชั่นจะดำเนินโครงการฯ ผ่านเวทีมิสเวิลด์ และสามารถระดมทุนได้เป็นจำนวนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐเพื่อนำไปมอบให้แก่การกุศล
ตัวแทนผู้เข้าประกวดมิสเวิลด์ 2019 จาก 130 ประเทศมีกำหนดจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เพื่อเก็บตัวก่อนเข้าประกวดรอบสุดท้ายในเดือนธันวาคม โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนในเมืองไทย ผู้เข้าประกวดทุกคนจะได้เข้าร่วมกิจกรรมของกองประกวด ณ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและมีชื่อเสียงต่างๆ ของเมืองไทย รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการ Beauty With A Purpose เพื่อบริจาคช่วยเหลือองค์กรการกุศล
การประกวดมิสเวิลด์ครั้งล่าสุดในปีที่ผ่านมาจัดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 9 ที่มีการจัดประกวดมิสเวิลด์จัดขึ้นในประเทศดังกล่าว ที่ผ่านมาการประกวดมิสเวิลด์มีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจีน โดยสาวงามจากประเทศจีนที่ครองมงกุฏมิสเวิลด์แล้ว 2 คน ได้แก่ จางจื่อหลิน ในปี ค.ศ. 2007 และ หยูเหวินเซียะ ในปี ค.ศ. 2012
สำหรับโชว์การประกวดมิสเวิลด์รอบสุดท้ายที่หลายคนตั้งตารอนั้น จะถ่ายทอดสดไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ผู้ชมจะได้รับชมภาพประวัติศาสตร์ที่ วาเนซา ปอนเซ เด เลออน มิสเวิลด์คนปัจจุบันสวมมงกุฏให้กับสาวงามที่จะได้รับตำแหน่งเป็นมิสเวิลด์คนที่ 69 ในประเทศไทย
นายธนวัฒน์ วันสม ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท ทีดับเบิลยู เพเจ้นส์ จำกัด พันธมิตรผู้จัดงานมิสเวิลด์ 2019 รอบชิงชนะเลิศ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย กล่าวว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดเวทีนางงามที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่าง มิสเวิลด์ ในประเทศไทย ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมงานผู้มีประสบการณ์จากมิสเวิลด์ออร์แกไนเซชั่น ผมเชื่อว่าการประกวดครั้งนี้จะนำความสุขและสีสันมาให้คนไทยได้อย่างแน่นอน แฟนนางงามชาวไทยจะได้มีโอกาสรับชมผู้ชนะการประกวดมิสเวิลด์จากทั่วโลก มาประชันความงามและความสามารถกันในบ้านเรา และเรายังหวังว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสเวิลด์ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ในด้านศักยภาพของประเทศไทย รวมทั้งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว และนำวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทยไปสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลก ในฐานะเจ้าภาพผู้จัดงานอย่างเป็นทางการ เราจะทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เวทีการประกวดนางงามอันทรงเกียรตินี้ สำเร็จออกมาได้อย่างน่าประทับใจ”
ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นยังมีแขกรับเชิญพิเศษที่เข้าร่วม คือ มิสเวิลด์คนปัจจุบัน วาเนซา ปอนเซ เด เลออน และราชินีความงามประจำภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก (Continental Queen) จากการแข่งขันมิสเวิลด์ 2018 ได้แก่ นิโคลีน พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ สาวงามตัวแทนของประเทศไทยเจ้าของตำแหน่งมิสเวิลด์เอเชีย, มาเรีย เวสิเลวิช มิสเวิลด์ยุโรป จากเบลารุส, กาดิยาห์ โรบินสัน มิสเวิลด์คาริบเบียน จากจาเมกา, เจสสิกา ไทสัน มิสเวิลด์โอเชียนเนีย จากนิวซีแลนด์, ควิน อเบนาเคียว มิสเวิลด์แอฟริกา จากยูกันดา, โซลาริส บาร์บา มิสเวิลด์อเมริกา จากปานามา และ ลินซี แม็คลิลแลนด์ มิสเวิลด์สหราชอาณาจักร จากสกอตแลนด์
[Best_Wordpress_Gallery id=”1768″ gal_title=”19-02-18 MissWorld”]
เกี่ยวกับมิสเวิลด์
มิสเวิลด์ เป็นเวทีประกวดสาวงามระดับนานาชาติที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ริเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2492 โดยนายเอริค มอร์ลีย์ ปัจจุบันนางจูเลีย มอร์ลีย์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมิสเวิลด์ซึ่งมีการดำเนินงานอยู่ใน 130 ประเทศทั่วโลก มิสเวิลด์ไม่ได้เป็นเพียงการประกวดสาวงามเท่านัน หากแต่เป็นเวทีที่ผู้หญิงทั่วโลกจะได้ใช้ในการสร้างความตระหนักและระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมพัฒนามนุษยชาติในด้านต่างๆ มิสเวิลด์จึงเป็นองค์กรที่สามารถระดมทุนหลายร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐสำหรับใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลในแต่ละปี โดยเป็นการดำเนินการผ่าน โครงการ Beauty With A Purpose (งามอย่างมีคุณค่า) นอกจากนี้ การประกวดมิสเวิลด์มีผู้ชมการถ่ายทอดสดมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ชมนับพันล้านคนที่ชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ สื่อต่างๆ รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดีย และในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมการประกวดจากทั้ง 130 ประเทศ นับตั้งแต่มีการประกวดครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เวทีนี้ได้มอบมงกุฎให้มิสเวิลด์ไปแล้ว 68 คน