Article : Pha Thai, ผ้าไทย – ผ้าทอนาหมื่นศรี, จังหวัดตรัง

Klum Tho Pha Na Muen Si
กลุ่มทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง

บทความ เกี่ยวกับผ้าไทย
โดย ณัฐวรรษ (หยก) เจียรนันทะ

ผ้าทอมือ คืองานศิลปที่ถักทอความเอื้ออาทร เพื่อการแบ่งบันด้วยความงาม และน้ำใจ การเป็นเจ้าของผ้าทอเพียงหนึ่งผืนของท่าน จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างงานในชุมชน และการดำรงอยู่ของมรดกแห่งภูมิปัญญาไท และมรดกแห่งมนุษยชาติ

ผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าสมัยปัจจุบันที่เริ่มต้นรวมกลุ่มกันทำงาน และเป็นที่รู้จักในช่วง 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ โดยใช้สีย้อมเคมี ซึ่งให้สีที่สดใส เข้ากับยุคสมัย และยังสามารถนำไปแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆได้อีก ทำให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางแพร่หลายในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก

ตำบลนาหมื่นศรี, อำเภอนาโยง, จังหวัดตรัง อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดตรังประมาณ 11 กม. เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทยพุทธที่ทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา และสวนยาง เป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตที่สงบกลมกลืน กับธรรมชาติ

ในอดีต ลานใต้ถุนเรือนไม้ของชาวนาหมื่นศรีทุกหลังจะมี “โหก” หรือว่า “หูก” หรือ “กี่พื้นบ้าน” ตั้งอยู่และมีอุปกรณ์ทอผ้าแขวนไว้บนเพดานใต้ถุน

การทอผ้าของชาวนาหมื่นศรีถูกผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จากภาวะขาดแคลนเส้นใยสังเคราะห์ย้อมสีสำเร็จรูป ซึ่งมาทดแทนฝ้ายพื้นบ้านย้อมสีธรรมชาติที่ใช้กันมาแต่เดิม ทำให้การทอผ้าหยุดชะงักไประยะหนึ่ง

ยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู ผ้าจากโรงงานที่มีสีสันสดใส ราคาถูก หาซื้อง่ายเข้ามาแทนที่ผ้าทอมือ ทำให้ความนิยม ค่านิยมของคนทอผ้า และผู้ใช้ผ้าทอมือเปลี่ยนไป โหกที่เคยใช้งานถูกทอดทิ้งหรือทำลายไป

ปี 2514 ชาวบ้านที่ยังทำงานทอผ้าแบบดั้งเดิมด้วยความผูกพัน กับมรดกวัฒนธรรมที่เสมือนเป็นชีวิตจิตใจมารวมกลุ่มกันทอผ้า เพื่อใช้เพื่อแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน และนำไปขายนอกหมู่บ้านตามอัตภาพ โดยการนำของนางนางช่วยรอด

ปี 2516-2533 เริ่มมีการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆในภาครัฐ ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นได้รับการอบรม เพื่อเพิ่มเติมความรู้ และเทคนิคการทอผ้าด้วยกี่กระตุก แต่การส่งเสริมดังกล่าวมิได้ทำให้การทอผ้า ของชาวนาหมื่นศรีพัฒนาไปสู่การเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมที่ยั่งยืน กลุ่มจึงประสบภาวะหมดกำลังใจจากการผลิตที่ไม่มีทางออกด้านการตลาด สมาชิกเริ่มหันไปประกอบอาชีพอื่น ลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์จำนวนมาก ค่อยๆหมายไปจากวิถีการทอผ้าของช่างรุ่นหลังที่ยังคงทอผ้าอย่างต่อเนื่องซึ่งมีอยู่ประมาณ 10คน โดยการนำของนางกุศล นิลละออ

เริ่มกันใหม่ เพื่อไปสู่ความมั่นคง ปี 2534 ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้าสำรวจสถานภาพการทอผ้าพื้นบ้านภาคใต้ที่นาหมื่นศรี และเริ่มพูดคุยกันถึงคุณค่า และความสูญเสียถ้าเราปล่อยให้การทอผ้าที่นี่หมดไป สร้างกำลังใจ ความมั่นใจ และร้อยรวมใจกันใหม่ เริ่มด้วยการศึกษาเพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของกลุ่ม เปลี่ยนแปลงวิธีคิดกันใหม่ตรวจสอบความตั้งใจ สร้างกระบวนการเพื่อต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค และหาทางแก้ไขร่วมกัน

7ปี กับการเตรียมพร้อมของสมาชิกเพื่อเริ่มฟื้นฟูกลุ่มขึ้นใหม่ในปี 2540 โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริม และพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีปณิธานว่าชาวบ้าน และทีมงานที่ส่งเสริม พร้อมจะเรียนรู้ และต่อสู้ไปด้วยกัน และพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งเพื่อสืบสานมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าจนสามารถทำเป็นอาชีพที่พึ่งพาตเองอย่างยั่งยืนต่อไป

ณ ปัจจุบัน สมาชิกลุ่มมี 84คน เน้นการทำงานระบบกลุ่มเพื่อนำไปสู่ระบบธุรกิจชุมชน ส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และเชื่อมโยงกับชุมชน โดยเน้นการพัฒนาอย่างมีสติปัญญา เพื่อไปสู่ดุลยภาพของชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถแบ่งบันกับสังคมส่วนรวม

ผืนผ้าที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ เกิดจากการทอด้วยวิธียกดอก หรือการสร้างลวดลายโดยการเพิ่มด้ายพุ่ง ซึ่งอาจจะทอด้วยกี่พื้นบ้าน (ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า โหก) หรือกี่กระตุกทำให้ได้ผืนผ้าตามวัตถุประสงค์กรใช้งานที่หลากหลายซึ่งผืนผ้านั้นอาจจะทอจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ หรือฝ้ายผสมเส้นใยสังเคราะห์ย้อมสีเคมี ทั้งนี้เพื่อให้สามารถตอสนองความต้องการของผู้นิยมใช้ผ้าทอมืออย่างกว้างขวาง

การดูแลรักษาผ้าทอนาหมื่นศรี

ผ้าที่ทอด้วยฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ควรแยกซัก และใช้น้ำยาซักผ้าอย่างอ่อน ตากในที่ร่ม และรีดด้วยความร้อนขนาดปานกลาง ควรหลีกเลี่ยงการเปื้อนด้วยของที่มีรสเปรี้ยว, กรด, ด่าง

ผ้าที่ทอด้วยฝ้ายผสมเส้นใยสังเคราะห์ สามารถซักรีดได้เช่นเดียวกับผ้าโดยทั่วไป

ประวัติศาสตร์จังหวัดตรัง

คำว่า “ตรัง” มีความหมายสันนิษฐานได้ 3 ทาง คือ

1. ตรัง ที่มาจากคำว่า “ตรังคปุระ”1 เป็นคำสันสกฤต แปลว่า “การวิ่งห้อของม้า หรือคลื่นเคลื่อนตัว” ชื่อเมือง 12 นักษัตรนั้นคือชื่อเมืองป้อมปราการล้อมรอบเมืองนครศรีธรรมราช เมืองตรังค- ปุระเป็นเมืองที่มีฐานทัพเรือ จึงให้ใช้ตราม้า

2. ตรัง มาจากคำว่า “ตรังค์” แปลว่า “ลูกคลื่น” เพราะลักษณะพื้นที่ของเมืองตรังตอนเหนือเป็นเนินเล็กๆ สูงๆ ต่ำๆ คล้ายลูกคลื่นอยู่ทั่วไป

3. ตรัง มาจากคำว่า “ตรังเค” (TARANGUE) ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า “รุ่งอรุณ” หรือ “สว่างแล้ว” สันนิษฐานว่าคงมีชาวมลายูและชาวต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย เปอร์เซีย เดินทางมาค้าขายละแวกนี้ เมื่อเรือแล่นมาถึงปากอ่าวแม่น้ำตรัง เป็นเวลารุ่งอรุณพอดี คนที่โดยสารมาในเรืออาจจะเปล่งเสียงออกมาว่า “ตรังเค” สว่างแล้ว

ประวัติความเป็นมา

จังหวัดตรังเท่าที่ทราบและปรากฏหลักฐานแน่ชัด เริ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ก็มีหลักฐานบางอย่างที่เชื่อได้ว่าจังหวัดตรัง เป็นชุมชนที่มีคนเคยอยู่มาก่อนหน้านั้น ซึ่งสามารถลำดับเหตุการณ์ เป็นช่วงสมัยได้ ดังนี้

1. ชุมชนตรังในช่วงสมัยหินใหม่

2. ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย

3. เมืองตรังสมัยอาณาจักรศรีธรรมาโศกราช

4. เมืองตรังสมัยกรุงศรีอยุธยา

5. เมืองตรังสมัยกรุงธนบุรี

6. เมืองตรังช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

7. เมืองตรังสมัยสมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค)

8. เมืองตรังสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

9. เมืองตรังช่วงหลังพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์

เมืองตะโกลา

ในจดหมายเหตุของปโตเลมี ที่ได้บันทึกตามคำบอกเล่าของนักเดินเรือชาวกรีกชื่ออเล็กซานเดอร์ เดินทางเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 74 กล่าวถึงเมือง “ตะโกลา” ไว้ว่าเป็นเมืองท่าของสุวรรณภูมิ หรือไครเสาเซอร์โสเนโสส และเมือง “ตะโกลา” ยังปรากฏอยู่ในหนังสือมิลินท-ปัญญา เขียนขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 5 เรียกเมืองนี้ว่า ตกโกล นอกจากนี้ จารึกของพวกตนโจร (พวกทมิฬ ที่อยู่ทางใต้ของอินเดีย) ในสมัยพระเจ้าราเชนทรที่ 1 เป็นกษัตริย์ของโจฬะ (ประมาณ ปี พ.ศ. 1555-1585) ได้กล่าวถึงเมือง ตไลตตกโกล

นักโบราณคดีต่างๆ มีความเห็นว่าเมืองตะโกลา, ตกโกล และ ตไลตตกโกล คือ เมืองเดียวกัน

เมืองตะโกลาที่กล่าวข้างต้น น่าจะเป็นท้องที่บริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่สนับสนุนในเรื่องนี้คือ

1) ข้อเขียนของเลอเมย์ผู้เขียนวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์เขียนถึง ตะโกลาไว้ดังนี้…..

สถานที่แห่งนี้อาจหมายถึงเมืองตรัง เพราะท้องที่เมืองตรังเขตอำเภอปะเหลียน และอำเภอกันตัง มีอาณาเขตตกทะเลหน้านอกในมหาสมุทรอินเดีย เป็นที่จอดเรือได้ดี

2) จดหมายเหตุของปโตเลมี เขียนถึงตะโกลาไว้ดังนี้ เมื่อพ้นประเทศอาจิราเลียบฝั่งลงไปเรื่อยๆ ถึงแหลมเบซิงงาในอ่าวซาราแบก (เขตจังหวัดพังงาปัจจุบัน) เมื่อพ้นจากนั้นก็เข้าเขตที่อเล็ก-ซานเดอร์นักเดินเรือชาวกรีกเรียกว่า เมืองทองแล้วก็จะถึงเมืองตะโกลา…..ใต้เมืองพังงาลงมาที่เป็นเมืองท่าสำคัญเห็นจะมีแต่เมืองตรังเท่านั้น ที่เป็นเมืองท่าเรือ

3) ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ การเดินเรือในเขตมรสุม ถ้าจะเดินทางจากลังกา หรืออินเดียตอนใต้ มายังสุวรรณภูมิ เมื่อตั้งหางเสือของเรือแล้วแล่นตัดตรงมา อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะนำเรือเข้าฝั่งสุวรรณภูมิบริเวณเส้นละติจูดที่ 77 องศาเหนือ ซึ่งจะตรงกับจังหวัดตรังพอดี หาก “ตะโกลา” เป็นเมืองท่าของสุวรรณภูมิ (ตามจดหมายเหตุของปตาเลมี) “ตะโกลา” ก็คือชุมชนในเขตเมืองตรัง นั้นเอง

4) ตามลักษณะภูมิศาสตร์ กล่าวถึง เส้นทางการติดต่อค้าขายข้ามแหลมทองระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก นั้น จะมีการขนถ่ายสินค้า จากเมืองตะโกลาไปยังฝั่งทะเลทางอ่าวไทย

เส้นทางนี้หากจะพิจารณาว่าเป็นเส้นทางจากตะกั่วป่า ไปยังสุราษฎร์ธานี ก็คงไม่ใช้เพราะเส้นทางจากตะกั่วป่าไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องข้ามเขาสก จึงเป็นภูเขาสูงเป็นพันฟุต “ทางข้ามเขาสกนั้น ไม่ใช้เส้นทางขนถ่ายสินค้าข้ามปลายแหลมทอง แต่เป็นเส้นทางลัดข้ามแดนเท่านั้น”

เมื่อตะโกลา เป็นเมืองยุคก่อนประวัติศาสตร์ไทย หากเชื่อว่าชุมชนในเขตเมืองตรัง คือ เมืองตะโกลาก็จะสรุปได้ว่าเมืองตรังมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไทย

ชุมชนเมืองตรังสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ในสมัยพระเจ้าอู่ทองครองราชย์กรุงศรีอยุธยา เมืองตรังยังเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรนครศรีธรรมราชโศกราช พระเจ้าจันทรภานุแห่งราชวงศ์ปทุมวงค์ ของอาณาจักรศรีธรรมาโศกราช และพระเจ้าอู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงซึ่งความเป็นใหญ่ในเผ่าไทยเหนือ กลาง และใต้

จนกระทั่งได้มีการหย่าศึกกันที่บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ครั้นในสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ เมืองนครศรีธรรมาโศกราช เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรี-อยุธยา ในฐานะหัวเมืองเอกฝ่ายใต้ หลักฐานตามที่ปรากฏชัดคือ การรวมไทยของอยุธยา ในทำเนียบศักดินาของพระธรรมนูญปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองตรังจึงต้องรวมเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาด้วย เมืองตรังเป็นเมืองท่าของเมืองนครศรีธรรมราชท่าฝั่งตะวันตก คู่กับเมืองท่าทองเป็นเมืองฝั่งตะวันออก

ในช่วงนี้ ผู้สำเร็จราชการปอร์ตุเกสที่อินเดีย คือ อัลฟองโสเดออัลบูร์เคอร์ก ได้ยกกองทัพมาตีเมืองมะละกา ในสมัยที่สุลต่านมูรซับฟาร์ปกครอง ต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นเมืองขึ้นของไทย (พ.ศ. 2054) ก็เลยส่งอาซเวโด เดินทางจากมะลากามาขึ้นบกที่เมืองตรัง และเดินทางต่อด้วยม้า และเกวียนเข้าไปนครศรีธรรมราช แล้วลงเรือไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อนำสาส์นไปขอโทษไทยพร้อมกับถวายปืนไฟ 300 กระบอก

ในช่วงสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานอ้างถึงเมืองตรังไว้ดังนี้ เมื่อครั้งกรุงเก่าในแผ่นดินเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสวยราชย์ให้ พระยาราชสุภาวดีเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลวงสิทธิ นายเวรมหาดเล็ก (หนู) เป็นปลัดเมืองภายหลังพระยานครฯ ถูกอุทธรณ์ต้องกลับไปอยู่กรุงเทพฯ (หมายถึงกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หรือกรุงศรีอยุธยา) ถูกถอดจากเจ้าเมือง เวลากรุงเสียแก่พม่าหามีเจ้าเมืองไม่ มีแต่พระปลัดเป็นผู้รักษาราชการเมือง จึงตั้งตัวเป็นเจ้านครฯ เมืองชุมพร ปะทิว หลังสวน กระ ระนอง ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง พังงา พัทลุง สงขลา ตานี หนองจิก เทพา ไทร ปะลิศ สตูล ภูเก็ต รวมทั้งเมือง ตรัง กระบี่ และเมืองท่าทอง มาขึ้นกับเจ้านคร (หนู) ตั้งเป็นชุมนุมนครศรีธรรมราชไม่ขึ้นกับกรุงเทพฯ

เมืองตรังสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

เมื่อกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง อำนาจของเมืองนครศรีธรรมราชก็ถูกลดลงกว่าเดิม ทางราชธานีได้มอบหมายให้เจ้านครศรีฯ (หนู) ปกครองแต่เพียงบริเวณหัวเมืองเท่านั้น เพราะได้โปรดเกล้ายกเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราชเมืองอื่นๆ คือ ไชยา พัทลุง ถลาง ชุมพร มาขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2319 และให้แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2320 หัวเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนั้น จึงมีแต่เมืองตรัง และเมืองท่าทอง ซึ่งเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลทางตะวันตก และชายฝั่งทะเลตะวันออกเท่านั้น

นอกจากนี้หลักฐานจากใบบอก เมื่อทราบข่าวว่าอะแซหวุ่นกี้เตรียมยกกองทัพมาตีกรุง ธนบุรี ใบบอกที่มาถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ ก็ยังกล่าวถึงเมืองตรังไว้ดังนี้….. ในสัญญาบัตรตราตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ของพระเจ้ากรุงธนบุรีกล่าวว่า “ ประการหนึ่งเมืองสงขลา และเมืองตรังเป็นเมืองปลายด่าน แดนต่อด้วยเมืองไทร เมืองปัตตานี และเมืองแขกทั้งปวงยังมิสงบสงคราม” เป็นการเขียนย้ำให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคอยระมัดระวัง และตรวจตราดูแลเมืองในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เพราะทางเมืองหลวงเกรงว่า เมื่อมีศึกกับพม่าแล้ว ทางหัวเมืองแขกอาจจะยกกองทัพมาตีเมืองสงขลา และเมืองตรังก็ได้

เมืองตรังในช่วงนี้สืบต่อมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพระยาตรังนาแขกเป็นเจ้าเมืองมีชุมชนย่อย 2 ชุมชน คือ เมืองตรัง และเมืองภูรา

เมืองตรังช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รวมเมืองตรัง และเมืองภูราเข้าด้วยกัน ตั้งพระภักดีบริรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชออกมารักษาเมืองตรัง แทนพระตรังค์นาแขกซึ่งชราภาพมาก เมืองตรังช่วงก่อนพระภักดีบริรักษ์นี้

เมื่อโปรดให้พระภักดีบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชออกไปรักษาเมืองตรังนั้น ปรากฏอยู่ในเพลงยาวออกวางตราเมืองตรังค์ เป็นพระยาตรังคภูมาภิบาล (จันทร์) หรือพระยาตรังค์ที่เก่งทางโคลงฉันท์กาพย์กลอน หรือพระยาตรังค์ศรีไหนนั้นเอง พระภักดีบริรักษ์ได้กราบทูลขอยกเมืองตรัง และเมืองภูราเข้าเป็นเมืองตรังภูรา

ต่อมาพระภักดีบริรักษ์ต้องโทษ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าต้องโทษสถานใด แต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องภรรยาที่ 3 มีชู้แล้วท่านจับได้เลยให้เฆี่ยนชายชู้ถึงตาย ถูกเรียกตัวกลับเข้ารับราชการในกรุงเทพฯ เสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้โต๊ะปังกะหวาผู้รักษาเกาะลิบง หรือพระยาลิบงออกเป็นผู้รักษาเมืองตรัง ต่อมาพระยาลิบงเกดทะเลาะ กับเจ้านครฯ (พัฒน์) จนเป็นอริกัน เมื่อเรื่องราวทราบถึงราชธานี พระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ใช้วิธีเดียวกับที่เคยใช้กับเมืองสงขลาได้ผลมาแล้ว คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกเมืองตรังมาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เสียชั่วคราวในปี พ.ศ. 2347

เมื่อพระยาลิบง (โต๊ะปังกะหวา) ถึงแก่กรรม จึงโปรดให้หลวงฤทธิสงคราม ซึ่งเป็นบุตรเขยพระยาลิบงเป็นผู้รักษาเมืองตรัง แต่ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าจะให้เมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ อีกไม่ได้ เพราะหลวงฤทธิสงคราม ยังขาดความรู้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองตรังไปขึ้นกับ เมืองสงขลา ให้เจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นผู้บังคับบัญชาดูแล และช่วยเหลือหลวงฤทธิ-สงคราม ปกครองเมืองตรังภูราต่อไป

ในปี พ.ศ. 2354 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการในภาคใต้ เนื่องจากเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ได้ลาออกจากตำแหน่ง ทางราชธานีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป ในปีนี้ปรากฏว่าหลวงฤทธิสงคราม และเจ้าพระยาสงขลาได้ถึงแก่กรรม จึงเหลือพระยานครฯ (น้อย) เพียงผู้เดียวที่มีความรู้ความสามารถในภาคใต้ ทางราชธานีได้พิจารณาแล้วว่า เมืองตรังจะขึ้นกับเมืองสงขลาอีกดังเดิมไม่เหมาะสมเสียแล้ว เพราะหลังจากที่พม่ามาตีถลางแล้วในปี พ.ศ.2352 ไม่มีหัวเมืองใดเหมาะสมในการดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก แทนเมืองถลางเท่ากับเมืองนครศรีธรรมราช จึงโปรดเกล้าให้เมืองตรัง กลับมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม และให้พระยานครฯ (น้อย) จัดกรมการเมืองนครศรีธรรมราชลงไปทำนุบำรุงเมืองตรัง ให้เป็นที่ทำไร่นายุ้งฉางเก็บเรือรบเรือลาดตระเวณ และสะสมกำลังผู้คนไว้ทางฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อเป็นการป้องกัน และปราบปรามแขกสลัด ทั้งสื่อข่าวเคลื่อนไหวของพม่า และป้องกันการรุกรานของพม่า ต่อหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกอีกด้วย ดังปรากฏหลักฐานในตราสารของเจ้าพระยาเสนา (ปิ่น) สมุหกลาโหม มีออกไปถึงปลัดและกรมการเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 2354 ดังนี้

…..เมืองตรังภูรานั้นเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราชมาแต่ก่อน ให้ยกเอาเมืองตรัง- ภูรากลับมาขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ให้พระยานครจัดแจง หลวง ขุน หมื่น กรมการ ที่มีสติปัญญาสัตย์ซื่อมั่นคงไปตั้งเกลี่ยกล่อมแขกไทยมีชื่อให้เข้าไปตั้งบ้านเรือน ทำไร่นา ปลูกยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารทำรั้วโรงไว้เรือรบ เรือไล่ รักษาปากแม่น้ำตรังไว้ ขุนมีราชการประการใด จะได้ช่วยรบพุ่งกันทันท่วงที

พระยานคร (น้อย) ได้ออกปรับปรุงเมืองตรังด้วยตนเองตามที่ราชธานีมีสารกำชับไว้ จนกระทั่งเมืองตรังเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะมีกำปั่นต่างประเทศมารับสินค้าปีละหลายๆ ลำ และเป็นฐานทัพเรือที่สำคัญ สำหรับป้องกันพม่าทางหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก กับควบคุมหัวเมืองไทรบุรีปรากฏว่าเมืองตรังมีกองเรือรบและเรืออื่นๆ ถึง 300 ลำ นอกจากนี้ยังจัดหน่วยราชการ เช่นเดียวกันกับเมืองนครศรีธรรมราช คือมีตำแหน่ง ผู้รักษาเมือง ปลัด ยกกระบัตรมหาดไทย นครบาล กรมนา กรมวัง กรมคลัง และสรรพากร สำหรับเมืองตรังมีกรมพิเศษนอกเหนือจากเมืองนครศรีธรรมราช คือ กรมปืน มีหน้าที่สะสมและรักษาปืนซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในสมัยนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2354 นี้เอง พระยานคร (น้อย) ได้กราบทูลไปยังราชธานีเพื่อให้โปรดเกล้า แต่งบุตรคนหนึ่งออกไปรักษาเมืองตรัง คือ พระอุไทยธานี (ม่วง) เจ้าเมืองคนนี้ได้ย้ายเมืองตรังจากตรังภูรา มาที่ควนธานี และได้วางหลักเมืองที่ควนธานีด้วย เมืองตรังในช่วงนี้เจริญมาก เพราะมีสินค้าที่ชาวต่างประเทศต้องการ คือ ช้าง ทางราชธานีได้ให้การสนับสนุนโดยการต่อเรือบรรทุกช้างไปจำหน่าย การค้าช้างเมืองตรังสมัยนั้นมีประจำทุกปีตามฤดูของลมมรสุม ดังในปี พ.ศ. 2355 เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ขายช้างให้อินเดีย 3 ลำเรือ และปี พ.ศ. 2357 มีเรือกำปั่นมาซื้อช้าง 2 ลำ และเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ได้แต่งกำปั่นหลวงอีก 1 ลำ รวม 3 ลำ บรรทุกช้างได้มากกว่า 60 เชือก ขายได้เป็นเงิน 252 ชั่ง 9 ตำลึง 3 บาท หรือ 19ม440 บาท ซึ่งขนาดของเรือมีขนาดใหญ่ถึงกับต้องใช้กรรเชียง 2 ชั้น และในภาคใต้ขณะนั้น เมืองตรังเป็นฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุด เพราะใช้ในการคุมหัวเมืองไทรบุรี และคอยป้องกันพม่าอีกด้วย ในช่วงที่พระยานคร (น้อย) เป็นเจ้าเมืองนครนั้นเมืองตรังได้เปลี่ยนเจ้าเมืองบ่อยครั้ง พระอุไทยธานีปกครองอยู่ถึงปี 2355 ก็มีเรื่องต้องโทษ และถูกถอดออกจากเจ้าเมืองตรัง หลวงช่วยบุญเพ็ชร ปกครองเมืองต่อมา ครั้นพระยาตรังค์นาแขก (สิงห์) ปกครอง มีเหตุการณ์สำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ การเจรจาความเมืองกับอังกฤษที่เมืองตรัง เนื่องจากเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) หลบหนีไปพึ่งอังกฤษที่ปีนังเจ้าพระยานคร (น้อย) ขอตัวจากผู้ว่าอังกฤษที่ปีนังไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดขัดใจ ระหว่างไทยกับอังกฤษได้เจรจากันตกลงกันหลายครั้ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2367 ผู้ว่าราชการอังกฤษที่ปีนังได้ส่งร้อยเอกเจมส์โลว์ เดินทางมาขึ้นบกที่ตรัง แล้วมีหนังสือแจ้งไปยังนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานคร (น้อย) ส่งพระเสน่หามนตรีไปพบที่เมืองตรัง ครั้นทราบว่าเป็นเรื่องเจรจาขอให้ไทยช่วยอังกฤษรบพม่าก็ได้มีใบบอกเข้าไปยังราชธานี โดยไม่ตอบอังกฤษ จนกระทั่งอังกฤษส่งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ มาเจรจาที่กรุงเทพฯ ขณะนั้นเจ้าพระยานคร (น้อย) ชุมนุมทัพที่ตรัง เตรียมยกไปตีเประและสลังงอ อังกฤษเกรงว่าถ้าตีได้จะกระทบกระเทือนถึงการค้าของอังกฤษ จึงส่งเรือปืนมาปิดปากแม่น้ำตรัง

ปี พ.ศ. 2381 ในรัชกาลที่ 4 กรุงเทพฯ ได้จัดงานถวายพระเพลิงศพ พระสมเด็จพระศรี- สุลาไลย พระราชชนนีพระพันปีหลวง พระยาสงขลา เจ้าพระยานคร (น้อย) เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตนกูมะหะหมัด สหัด, ตนกูมะหะหมัด อาเกบและหวันมาหลี เป็นสลัดแขกอยู่ที่เกาะยาว (อยู่ใกล้เกาะภูเก็ต) ถือโอกาสยกทัพเรือเข้าตีเมืองตรังได้ ให้หวันมาลีรักษาเมืองตรัง แล้วก็ไปตีเมืองไทรบุรีได้ พระยาอภัย-ธิเบศร์ (แสง) และพระเสนานุชิต (นุช) ผู้รักษาเมืองไทรบุรีได้ถอยเข้ามาตั้งที่พัทลุง ตนกูมะหะหมัด สหัด จึงยกทัพเข้าตีเมืองสงขลาและพัทลุง ความทราบถึงกรุงเทพฯ พระยาสงขลาและเจ้าพระยานคร (น้อย) ยกกองทัพมาปราบเหตุการณ์จึงสงบลง ดังนั้นเพื่อลดปัญหาเรื่องไทรบุรีก็ให้ย้ายพระยาไทร คือ พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) มาอยู่ที่พังงา แล้วกวาดแขกเมืองไทรมาพังงาด้วย ให้เมืองไทรมีกำลังแต่น้อย ส่วนกำปั่น เรือรบ เรือไล่ ปืนใหญ่ ปืนน้อย ให้พระยาศรีพิพัฒน์เจ้าเมืองสงขลาแบ่งมาไว้ที่เมืองตรังและเมืองสงขลาเสีย เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อนิจกรรมแล้วทางกรุงเทพฯ ก็ยังต้องการให้เมืองตรังเป็นเมืองสำคัญต่อไป จึงได้ตั้งเจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) ออกมาเป็นข้าหลวงที่ภูเก็ต ต่อมา เจ้าหมื่นเสมอใจราชได้เลื่อนยศเป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เป็นข้าหลวงใหญ่ทางฝั่งตะวันตก ตั้งกองบัญชาการข้าหลวงใหญ่ที่ตรัง และโอนเมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ปีนั้นเอง

เมืองตรังช่วงสมัยสมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ในปี 2423 สมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้คิดออกทำนุบำรุงเมืองตรังในช่วงที่พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) บุตรชายออกเป็นข้าหลวงใหญ่ เพราะเห็นว่าตนเองก็ชราแล้ว จึงต้องการสร้างอนุสรณ์ก่อนตายเช่นเดียวกัน เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ออกสร้างเมืองจันทบุรีเสร็จในปี 3 ปี ดังนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงสร้างที่ทำการเจ้าเมืองและที่ชำระคดี โดยนำแบบจากตึกคอนเวอร์เมนต์เฮาส์ของสิงคโปร์มีความยาว 1 เส้น กว้าง 15 ศอก ดังนั้น ภาษีที่พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่ได้เก็บจากหัวเมืองชายทะเลตะวันตก และเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อส่งให้กรุงเทพฯ ถูกสมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ นำไปสร้างที่ทำการเจ้าเมืองหมดเป็นเวลาถึง 2 ปี เมื่อกรมพระคลังสมบัติได้เรียกเงินกับเสนาบดีกลาโหม เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ซึ่งทำหน้าที่บังคับบัญชาข้าหลวงใหญ่ คือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ทั้งสองคนซึ่งเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็ไม่ทราบว่าจะทวงอย่างไร

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2425 พระยามนตรีสุริยวงศ์จึงขอลาออกจากตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ เมืองตรัง เพราะทนสภาพที่ถูกบีบบังคับไม่ไหว สมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ จึงได้เปลี่ยนแนวความคิดในการสร้างเมือง มาเป็นการทำนุบำรุงเมืองตรังแทนเมื่อได้รับข้อเสนอแนะจากเจ้าพระยาภานุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) และในปีนี้เองปรากฏว่าสมเด็จเจ้าพระยามหาสุริยวงศ์ได้ถึงแก่อสัญกรรม แต่ก่อนถึง อสัญกรรม ได้มอบหมายเมืองตรังให้พระรัตนเศรษฐี (คอซิมกอง) เจ้าเมืองระนองเป็นผู้ดูแลเมืองตรัง และพระยาระนองหรือพระยารัตนเศรษฐี ก็ได้ทำนุบำรุงเมืองตรังแต่ก็ไม่ดีขึ้น เนื่องจากเมืองขาดทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ดีบุกมีน้อย สถานที่ทั่วไปเหมาะกับการเกษตรซึ่งต้องใช้เวลาและทุนมาก ดังนั้นในปี พ.ศ. 2528 ก็ได้ลาออกจากผู้ว่าราชการเมืองตรัง เมืองตรังก็เลยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ภูเก็ต คือ พระอนุรักษ์โยธา (กลิ่น) และพระสุรินทรามาตย์อยู่สองสมัย พระยาตรังภูมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) มารับตำแหน่งในปี พ.ศ. 2431-2434

เมืองตรังสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

ในปี 2433 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสภาคใต้ ราษฎรจำนวน 4,000 ครอบครัว ถวายฎีกา ให้พระยาตรังคภูมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) พ้นตำแหน่งเจ้าเมือง เนื่องจากกดขี่ข่มเหงราษฎร และเลี้ยงโจรผู้ร้าย รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าแต่งตั้ง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี๊) จากเมืองกระบุรีมาเป็นเจ้าเมืองตรังตั้งแต่ปี 2434 ในช่วงนี้เมืองตรังเจริญมาก เพราะเจ้าเมืองส่งเสริมการเกษตร ให้ราษฎรปลูกพืชผักและทำสวนพริก สวนยาง รวมทั้งจัดการจัดตั้งกองตำรวจภูธรขึ้นในเมืองตรัง และซื้อเรือกลไฟไว้ลาดตระเวณ ให้ความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการค้ากับต่างประเทศด้วย และยังตัดเส้นทางคมนาคม ระหว่างเมืองพัทลุงมาเมืองตรัง ถึงท่าน้ำกันตัง ลดปัญหาโจรผู้ร้าย และสลัดรวมทั้ง ปัญหาชาวจีนที่มักจะชำระคดีกันเอง ทางด้านการค้ากับต่างประเทศได้ส่งสินค้าขายปีนัง

จนกระทั่งเมืองตรังฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีสู่สภาพเดิม

ในปี พ.ศ. 2436 และได้กราบบังคมทูลขอย้ายเมืองตรังไปไว้ที่กันตัง โดยให้เหตุผลว่าเมืองตรังที่ควนธานี ไม่เหมาะสมที่จะทำการค้า ยากแก่การทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งเมืองตรังที่กันตังนั้นได้สร้างศาลากลางเป็นตึกใหญ่ 2 ชั้น 2 ข้างศาลากลางมีตึกชั้นเดียว 2 หลัง เป็นศาลหลังหนึ่งเป็น

ที่ว่าการอำเภอหลังหนึ่ง ปี พ.ศ. 2439 รัฐบาลได้แบ่งท้องที่การปกครองเรียกว่าข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 115 ได้รวมเมืองตรังและเมืองปะเหลียนเข้าด้วยกัน แบ่งออกเป็น 5 อำเภอคือ อำเภอบางรัก อำเภอเมือง (กันตัง) อำเภอเขาขาว (ห้วยยอด) อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา มีตำบล 109 ตำบล สำหรับท่าเรือเทียบเรือนั้นเทียบได้เพียง 6 ท่าคือ กันตัง สิเกา กลาเส ท่าพญา หยงสตาร์ เกาะสุกร และยังให้ออกทะเบียนเลขเรือด้วย เพื่อป้องกันการปล้นเรือทั้งได้สร้าง โรงพยาบาลให้มิชชั่นนารีที่ทับเที่ยง

ปี พ.ศ. 2445 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต เจ้าเมืองตรังคนต่อมานั้นคือ พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ (ถนอม บุญยเกตุ) พ.ศ. 2445 – 2448 พระสถลสถาน – พิทักษ์ (คออยู่เกียด ณ ระนอง) พ.ศ. 2448 – 2455 พระยาอุตรกิจพิจารณ์ (สุด) พ.ศ. 2445 – 2456 และพระสุนทรเทพกิจจารักษ์ พ.ศ. 2456 – 2457 เมื่อถึงสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดินทร์) เมืองตรังก็ย้ายไปอยู่ที่ตำบลบางรัก บ้านทับเที่ยง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรังในปัจจุบัน

เมืองตรังช่วงหลังพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดินทร์)

ในช่วงสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดินทร์) มาปกครองเมืองตรัง (2457-2461) พระวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สุทัศน์ สุทธิสุทัศน์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ไปว่าเมืองตรัง ตั้งที่กันตังไม่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากว่าข่าวสงครามโลก ครั้งที่ 1 นั้นเรือดำน้ำเยอรมัน ชื่อเอ็มเดนได้ลอยลำยิงถล่มเกาะปีนัง พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเกรงว่า หากเกิดสงคราม อาจจะถูกยิงเช่นปีนัง จึงได้กราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานบรมราชานุญาต ย้ายที่ว่าการจังหวัดไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ในปี พ.ศ. 2459 มาถึงจังหวัดตรัง ได้มาทำพิธีเปิดโรงเรียนประจำจังหวัดชายและพระราชทานนามว่า “วิเชียรมาตุ” และยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งที่ทำการเมืองตรังจากตำบลกันตัง มาเป็นตำบลทับเที่ยงอำเภอบางรัก และพระราชทานชื่อที่พักประทับแรมว่า ตำหนักผ่อนกาย ใหม่ในปัจจุบันเป็นบริเวณ

อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) และที่กันตังนั้น ก็เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเมืองเป็นอำเภอกันตัง ต่อมาสมัยของพระยาตรังภูมาภิบาล (เจิม ปัญยารชุม) ปี 2462 ได้สร้างศาลากลางจังหวัดตรังเป็นอาคารไม้ ซึ่งปัจจุบันได้รื้อแล้วสร้างอาคารคอนกรีต 2 ชั้น และมีชั้น 3 อยู่เพียง ช่วงเดียว

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง.กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์ , 2528.

Published by Jade-ThaiCatWalk

Editor - ThaiCatwalk.Com and Runway Photographer PR, Brand Acknowledgement, Advertorial