Article : Pha Thai, ผ้าไทย – Shinawatra Thai Silk

Shinawatra Thai Silk
ชินวัตรไหมไทย – ผู้นำยุคแรกๆของผ้าไหมไทย

บทความและบทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับผ้าไทย
โดย ณัฐวรรษ (หยก) เจียรนันทะ

บทความและบทสัมภาษณ์ คุณอัจฉรา หวลอ่อน, Sales Supervisor ชินวัตรไหมไทย เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าไทย ในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนเริ่มลืมเลือนรากเหง้าแห่งความเป็นไทย ThaiCatwalk จึงเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับพื้นฐานเรื่องผ้าไทย เพื่อให้บุคคลรุ่นหลังได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวเหล่านี้

ผ้าไหมไทย – เส้นไหมที่นำมาถักทอเป็นผ้าไหมนั้น ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งใยผ้า” (Queen of Textile Fibers) เนื่องจากเป็นเส้นใยที่มีความนุ่มนวล และสวยงามที่จะหาได้จากเส้นใยชนิดอื่น เมื่อนำมาถักทอเป็นผ้าก็จะได้ผ้าที่มีความงดงาม และทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ “ผ้าไหมไทย” เพราะกว่าจะได้ผ้ามาแต่ละผืน ต้องใช้ความอุตสาหะเป็นอย่างมากทั้งยังมีกรรมวิธีที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

เริ่มตั้งแต่ การเลี้ยงไหมด้วยใยหม่อน จนเติบโตใหญ่กลายเป็นรังไหม นำรังไหมมาต้มในน้ำเพื่อดึงเส้นใยออกมา หรือที่เรียกกันว่า “การสาวไหม” เมื่อได้เส้นใยออกมาแล้ว ก็ต้องนำไปฟอก เพื่อล้างกาวที่เคลือบเส้นไหมออก หลังจากนั้นจึงนำมาย้อมสี เมื่อย้อมเสร็จแล้ว ต้องนำเส้นไหมมาเตรียมให้พร้อมสำหรับการทอ โดยเส้นไหมที่จะนำไปเป็นเส้นไหมพุ่ง จะกรอใส่ในหลอดเล็กๆ แล้วบรรจุลงในกระสวย ส่วนเส้นไหมที่จะนำไปเป็นเส้นยืนก็จะถูกนำไปเข้าฟันหวี ซึ่งขั้นตอนการทำเส้นยืนนี้มีหลายขั้นตอน และมีความยุ่งยากมากกว่าขั้นตอนอื่นๆ เมื่อเตรียมเส้นไหมพุ่ง และไหมยืนเสร็จเรียบร้อย ก็นำไปทอโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กี่”

ทุกขั้นตอนการผลิดจากเส้นใยสู่ผืนผ้า ล้วนแต่ทำด้วยมือ ผสานด้วยหัวใจในการสร้างสรรค์รูปแบบ และลวดลายของผ้าไหมไทย จึงมีเอกลักษณ์ และลวดลายเฉพาะถิ่นที่งดงาม เป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดมาช้านาน

บทสัมภาษณ์ – ประวัติชินวัตรไหมไทย

เริ่มต้นสร้างร้านที่ตัวเมืองสันกำแพง ชื่อ ชินวัตรพาณิชย์ , ปัจจุบัน หลักกิโลเมตรที่ 7

คุณสมบัติเบื้องต้นของผ้าไหม ในสายตาชาวต่างชาติ

ชาวต่างชาติหลายคนรู้จักชื่อ ชินวัตรไหมไทย และหลายคนที่กลับมาซื้อสินค้าในร้าน เพราะเขารู้ว่าสินค้าของเรา มีคุณภาพแน่นอน ที่สำคัญเขาอยากเห็นกรรมวิธีการผลิต, การสาธิตการทอมือ หลายคนชอบที่จะดูการทอมือ หรือกี่ทอผ้า โดยเฉพาะชอบผ้าที่ทอจากมือ ไม่ใช่เครื่องจักร แต่ไม่ใช่ว่าทางร้านจะไม่มีเลย ทางร้านมีผ้าที่ทอจากเครื่องจักรเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการ ยิ่งผ้าไหมทอมือ ที่มีปุ่มผ้า หรือปุ่มด้าย บนผืนผ้าไหมเส้นหนา ลูกค้ายิ่งชอบ ดูเหมือนเป็นการบอกว่า ผ้าผืนนี้ทอด้วยกรรมวิธีโบราณ เป็นธรรมชาติมากกว่า เพียงแต่ว่าลูกค้าแถบเอเซียด้วยกัน ลูกค้าจะชอบไหมเส้นเล็ก เรียบ ไม่มีปุ่มด้าย งานเนียบหรือเป็นงานทอเครื่องจักร

กลุ่มของลูกค้า ในการเลือกสไตล์ของสินค้า เขาเลือกสไตล์ประเภทไหน

กลุ่มลูกค้ามีความหลากหลายชาติ หลายภาษา จึงขอแบ่งเป็นประเทศ อย่างกลุ่มประเทศแถบยุโรป จะชอบเสื้อผ้าสำเร็จรูป เขามองไปที่ตรงนั้นก่อน จากนั้น เราก็ยังมีการรองรับการตัดเสื้อผ้า เพราะชาวยุโรปสวมใส่ไซค์ใหญ่ บางครั้งก็ไม่พอดีตัว เขาก็จะสั่งตัดตามแบบของเรา หรือบางทีก็เปิดแคตตาล๊อค ให้ตัดเสื้อตามแบบที่เขาต้องการ

ส่วนชาวอิตาลี และสเปน จะชอบของตกแต่งบ้าน เน้นปลอกหมอน กับผ้าคาด (คาดโต๊ะ คาดเตียง, Table Runner)

ชาวญี่ปุ่น นิยมซื้อของฝากพวก ผ้าพันคอ, ผ้าสไบ, ผ้าเช็ดหน้า, เนคไท ชาวญี่ปุ่นก็นิยมตัดเสื้อกับเรา มีกลุ่มลูกค้าประจำเช่นกัน โดยจุดเด่นก็คือ การตัดเสื้อ หรือแก้เสื้อ ทางเรามีทีมงานวัดตัววัดขนาดอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งให้ช่างแก้ไข และสามารถทำงานจบภายในวันรุ่งขึ้น ส่งให้ลูกค้าที่มากับทัวร์ ได้รับเสื้อของเราทันเวลาก่อนกลับประเทศ

ปีนึงออก Collection บ่อยไหม

ของๆเราจะทำออกมาหลากหลาย มีคอลเลคชั่นใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ โดยประมาณก็ 3-6 เดือนครั้ง ตามกลุ่มสินค้า ซึ่งออกแบบโดย Designers ของทางชินวัตรไหมไทย

กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชม แบ่งเป็นคนไทย และชาวต่างประเทศสัดส่วนเท่าไหรครับ

ลูกค้าชาวต่างชาติที่มาส่วนใหญ่จะมากับทัวร์ ประมาณ 80% และชาวไทยประมาณ 20% ลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่ จะเป็นลูกค้าประจำ ที่กลับมาซื้อสินค้าบ่อย และมี Brand Royalty สูง และมีบัตรสมาชิกให้กับลูกค้ากลุ่มนี้

สัดส่วนของชาวต่างชาติ ก็เป็นชาวยุโรปประมาณครึ่งนึง รองลงมาก็เป็นชาวจีน ซึ่งเราได้กลุ่มลูกค้าชาวจีนในช่วง 2-3ปีนี้เยอะมาก ชาวจีนเองจะไม่ซื้อผ้าไหมไทยที่เป็นเมตรหรือเป็นชิ้น ส่วนใหญ่ชาวจีนจะซื้อสินค้าสำเร็จรูป ดูเหมือนชาวจีนมีศักยภาพและกำลังซื้อสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างเมื่อก่อน ชาวจีนจะเดินเล่นในร้านมากกว่า แต่ปัจจุบันมีการจับจ่ายมากขึ้น

ต่อมาจึงเป็นญี่ปุ่น ซึ่งจำนวนคนที่เข้าร้านน้อยกว่า แต่ยอดรวมในการซื้อมีมากกว่า หรือยอดต่อหัวสูงมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ชาวจีนมา 1รถบัส จะทำยอดการซื้อเท่ากับ ชาวญี่ปุ่น 1รถตู้ อย่างไรก็ตามลูกค้าชาวจีนมาส่วนช่วยอย่างมาในช่วง low season เพราะเขามาตลอดทั้งปี

ชาวยุโรปนั้น ฝรั่งเศสมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยซื้อผ้าพันคอ ผ้าสไบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป สำหรับผ้าสไบ ลูกค้าชอบซื้อไปเป็นของฝาก เพราะคุณภาพดีราคาไม่แพง ข้อดีอีกอย่างคือ ไกด์จะคอยแนะนำว่าที่ชินวัตรไหมไทย มีสินค้าอะไรบ้าง อะไรเด่นดี

ลูกค้าอีกกลุ่มคือ ชาวมาเลเซีย จะซื้อผ้าเป็นเมตร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ชายจะซื้อของฝากหลายชิ้น ไปฝากภรรยาที่บ้านหลายคน แต่ถ้าเป็นลูกค้าผู้หญิง จะซื้อให้ตัวเองเท่านั้น ฉะนั้นสำหรับเรา กลุ่มลูกค้าผู้ชายมีกำลังซื้อสูงกว่า

การขายสินค้าให้กับชาวต่างชาติ รูปแบบดีไซน์ มีความเป็นสากลสูง ในจุดนี้ไม่ทราบว่ามีจุดคิดอย่างไร

เรามีทีมงานดีไซน์ และมี concept ในการออกคอลเลคชั่น อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ตามแฟชั่นทั้งหมด บางอย่างยังต้องมีเอกลักษณ์ของเราอยู่ การออกแบบแต่ละครั้งก็มีฤดูกาล และการเข้ากันของสีสันรูปแบบ ในร้านเองก็มีการหมุนเวียนสินค้าบนชั้นอยู่เสมอ

ผ้าไหมของเรานั้น ถือว่ามีส่วนช่วยเหลือหมู่บ้านในการผลิตผ้าไหมอย่างไร

ทางเราส่งงานผลิตผ้าไหมไปตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นการอนุรักษ์งานส่วนหนึ่ง และยังช่วยให้ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ทอผ้าไหมได้มีรายได้ ถ้าเราไม่เน้นการทอผ้าไหมด้วยมือ ชาวบ้านก็จะไม่มีงาน จนต้องเข้าสู่โรงงาน เป็นแรงงานรายวัน แต่อย่างนี้ เราช่วยเขา เขาก็ช่วยเรา พึ่งพาอาศัยกันและกัน

และอีกสิ่งที่ภูมิใจ คือ นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ เจาะจงมาศึกษาดูงานที่นี่ เพราะเรามีข้อมูลให้เขาทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยงหม่อนไหม, ผลิตทอ และเป็นตัวสินค้า ครบวงจร รวมถึงการคงเอกลักษณ์อย่างไร การดูงานมีตั้งแต่ ออกแบบ, การตลาด, มัคคุเทศน์

บทความ – ประวัติไหมในจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อ 100ปีก่อน นายเชียง ชินวัตร ผู้เป็นต้นตระกูล “ชินวัตร” ได้ทำการค้าขายกับประเทศพม่า ต่อมาได้ซื้อเส้นไหมดิบจากพม่า แล้วนำมาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการทอผ้าไหมผลิตเป็น ผ้าซิ่น, ผ้าโสร่ง, แล้วนำกลับมาขายให้พม่า เมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น ก็มีการนำผ้าไหมส่งขายในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง ต่อมาในเวลาไม่นานนัก ผ้าไหมชินวัตรก็เป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ ดังนั้นตระกูลชินวัตร จึงถือได้ว่าเป็นตระกูลแรกที่เริ่มทำกิจการทอผ้าไหม มีกาาจ้างงานเป็นรายแรกของจังหวัดเชียงใหม่

ในปี พ.ศ. 2453 นายเชียง ชินวัตร ได้อพยพตามบิดามาตั้งหลักแหล่งสุดท้ายที่บ้านกาด หรือกาดเสมียนตรา อำเภอสันกำแพง ได้ประกอบอาชีพค้าขายเจริญรอยตามบิดา โดยเริ่มต้นจากการรับซื้อขายเส้นฝ้าย สำหรับทอและผลิตเสื้อผ้าพื้นเมือง จากนั้นก็นำสินค้าบรรทุกช้างม้าเข้าไปขายในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของชาวอำเภอสันกำแพงในขณะนั้นลำบากมาก นายเชียงคิดว่าอยากทำการค้า ที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวอำเภอสันกำแพงได้มีฐานะทางเศษรฐกิจ, ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเห็นว่าชาวบ้าน ในแต่ละครัวเรือนมีการทอผ้าเพื่อใช้เองอยู่แล้ว จึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าพื้นเมืองขึ้น สินค้าพื้นเมืองของท่านได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และยังเป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าอีกด้วย ท่านจึงทำการค้าขายกับประเทศพม่า ในขณะที่ไปประเทศพม่านั้น ท่านได้พบวัตถุดิบแปลกใหม่ที่สุดของคนไทยในสมัยนั้น คือ เส้นไหม ท่านจึงได้ซื้อเส้นไหมดิบจากพม่า นำกลับมาทดลองทอเป็นผ้าไหม ผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง แล้วนำกลับไปขายที่พม่า สินค้าผ้าไหมของท่านก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นมากมาย จากทุกสารทิศ ซึ่งต่อมาท่านก็ได้ส่งเสริมให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นใยเอง

ในปี พ.ศ. 2478 บุตรีคนโต และคนที่6 ของคุณเชียง คือ คุณเข็มทอง และคุณจันทร์สม ผู้ซึ่งเป็นหัวแรงใหญ่ของร้านตลอดมา ได้ทำการปรับปรุงรูปแบบทอผ้าโดยเปลี่ยนมาใช้กี่กระตุก ทำให้ผลิตรวดเร็วขึ้น มีมาตราฐานว่าการทอด้วยมือ โรงงานทอผ้ากี่กระตุกของชินวัตร จึงก่อตั้งขึ้นในปีนั้น ภายใต้การควบคุมของกระทรวบอุตสาหกรรม ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนรับรองมาตราฐานมาโดยตลอด จึงถือและนับเอาปี พ.ศ. 2478 นั้นว่าเป็นจุดเริ่มต้นมาสู่ 65ปี แห่งความยิ่งใหญ่ในอาณาจักรไหมของคนไทย โดยน้ำพักน้ำแรงของชาวตระกูลชินวัตร

ในปี พ.ศ. 2480 ได้มีการขยายกิจการโรงงานทอผ้าไหมไทยชินวัตรพาณิชย์ และส่งเสริมการผลิตผ้าไหมด้วยการเลี้ยงไหม ทั้งยังพัฒนาธุรกิจผ้าไหมชินวัตรให้เจริญก้าวหน้าทั้งในด้านคุณภาพ และความงดงามจนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

แต่อย่างไรก็ดี ครั้งแรกเริ่มนั้น การผลิตผ้าไหมยังมีอุปสรรคที่สำคัญเกี่ยวกับสีที่ใช้ย้อม คุณภาพของผ้า ชินวัตรได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านั้นเป็นอย่างดี โดยพยายามศึกษาปรับปรุงเทคโนโลยีวิธีการต่างๆ ของการทอ การย้อมสี คุณภาพสี ซึ่งคำนึงถึงคุณภาพของเส้นใยเป็นหลัก แต่ด้วยวิวัฒนาการภายในประเทศยังไม่เพียงพอ จึงส่งคุณสรพันธ์ ชินวัตร บุตรชายคนที่ 9 ของคุณเชียงไปศึกษาด้านเคมีอุตสาหกรรมทอผ้าที่เยอรมัน, อังกฤษ, สวัสเซอร์แลนด์ และได้กลับมาพัฒนาการย้อมสีผ้าให้มีคุณภาพ สีคงทนยิ่งขึ้น จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญมือหนึ่งของเมืองไทย ได้รับการยกย่องจากวงการสิ่งทอ กล่าวคือ กรรมวิธีต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มา คุณสุรพันธ์ได้เผยแพร่สู่คนไทยจนโรงงานต่างๆ ถือปฏิบัติตาม นอกจากนั้นยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และคุณบุญรอด ชินวัตร บุตรชายคนที่ 10 ได้ไปศึกษาวิธีการทอผ้าที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาการทอให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

คุณสุรพันธ์ คุณบุญรอด เป็นผู้บุกเบิกสิ่งทอรุ่นใหม่ของคนไทยโดยแท้จริง ตัวอย่างเช่น เป็นคนแรกที่คิดค้นการตกแต่งลวดลาย และสีสันบนเส้นยืน แล้วทอประกอบการอภิบาลรักษาคุณภาพเส้นไหมทุกเส้น ให้มีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังคิดค้นการทอผ้ามัดหมี่ด้วยบลวดลายสีสันหวานตระการตาอย่างไม่มีที่ไหนเหมือน “มัดหมี่ชินวัตร” ถือได้เป็นแบบอย่างของผ้ามัดหมี่แห่งอนาคตที่ปฏิรูปทัศนคติเก่าๆ ที่ว่ามัดหมี่ไว้สำหรับคนแก่ เพราะลวดลายและสีสัน ทึบเข้มชวนให้คิดเช่นนั้น แต่มัดหมี่ชินวัตรสีอ่อนหวาน ลวดลายคลาสสิก เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ยิ่งไปกว่านั้น ชินวัตรก็ได้ออกแบบเครื่องทอผ้าชนิดพิเศษ สามารถทำผ้าหน้ากว้างขนาดต่างๆ ดังใจปรารถนา ไม่เป็นถุงเหมือนมัดหมี่ทั่วไปที่มักมีปัญหาตัดแล้วเสียเศษทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ผ้ามัดหมี่ชินวัตรนอกจากจะมีผู้สนใจนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแล้ว ยังเป็นที่นิยมชมชอบในการนำไปดัดแปลงเพื่อการตกแต่งภายในอีกด้วย

ที่สำคัญและลืมไม่ได้คือ การทดลองนำเอาไหมไทยมาทอเป็นผ้ากิโมโน ผ้าโอบิ ของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง ผ้าชนิดนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่สุภาพสตรีชั้นสูง เหตุที่ชินวัตรเลือกผ้ากิโมโน และโอบิ ก็เพื่อทดลองประสิทธิภาพคุณสมบัติต่างๆ อันยอดเยี่ยมของคนไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ และยอมรับของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นแทบจะปิดประตูการค้าเรื่องสิ่งทอกับนานาชาติเลยทีเดียว เพราะความทรนงในศักดิ์ศรี และความเชื่อมั่นว่า ไม่มีชาติใดในโลกที่จะมีวิวัฒนาการทอผ้าได้ดีเท่าญี่ปุ่น กรณีนี้เองเป็นแรงบันดาลใจที่คุณสุรพันธ์ และคุณบุญรอด ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณภาพของเราเยี่ยมจริงๆ จนถึงปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นสั่งผ้าไหมกิโมโน และโอบิ จากชินวัตรมากกว่า 19ปีแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ร้านชินวัตรพาณิชย์สันกำแพง ได้ขยายกิจการทำโรงงานที่มีอยู่เดิมให้กว้างขวางเป็นระเบียบขึ้น เพื่อให้เห็นขั้นตอนการผลิตไหมอย่างชัดเจน อันเป็นประโยชน์ต่อการทัศนศึกษา เพิ่มความสนใจส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การกรอไหม การย้อมสี การทำลวดลายผ้า กรรมวิธีการทำผ้าบาติก การทำผ้าไหมสีพื้นต่างๆ

ดังกล่าวมาแล้ว การผลิตเส้นไหมจึงได้เจริญขึ้นตามลำดับ สามารถผลิตเส้นไหมชนิดต่างๆ ออกจำหน่าย เช่นผ้าไหมเส้นเดียว, ผ้าไหมสองเส้น, ผ้าไหมสี่เส้น, ผ้าไหมหกเส้น และผ้าไหมแปดเส้น ผ้าไหมที่ผลิตจากโรงงานชินวัตรจะทอด้วยความประณีต เนื้อแน่น มีน้ำหนัก และคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตราฐาน จนได้รับคำชมเชยจากหน่วยงานต่างๆ ได้รับรางวัลมากมาย สำหรับเรื่องที่นำความปลาบปลื้มมาสู่ตระกูลชินวัตรเป็นอย่างยิ่งคือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑกับร้าน ท. ชินวัตรไหมไทย อันเป็นสาขาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในฐานที่เป็นกิจการของเอกชนที่ทำคุณประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก

ต่อมาประเทศไทย เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากมาย โปรแกรมการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ระบุไว้ก็คือ การได้เข้าเยี่ยมชมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของชาวบ้านในอำเภอสันกำแพง ด้วยเหตุนี้เองทำให้ “ชินวัตรไหมไทย” ถูกสร้างขึ้นมาในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเยี่ยมชมการผลิต และอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อ เพื่อนำกลับไปเป็นของฝาก รวมทั้งการซื้อเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ

ดังนั้น ตระกูลชินวัตร จึงนับได้ว่าเป็นตระกูลที่มีบทบาทอย่างมากในการบุกเบิก และพัฒนาธุรกิจผ้าไหมในประเทศไทย ส่งผลให้หัตถกรรมการทอผ้าไหมในภาคเหนือแพร่หลาย เป็นที่รู้จักทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ จนกระทั่งผ้าไหมกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยจวบจนทุกวันนี้

(จาก อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเชียง ชินวัตร, วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2521)

Published by Jade-ThaiCatWalk

Editor - ThaiCatwalk.Com and Runway Photographer PR, Brand Acknowledgement, Advertorial