Exclusive Interview
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

บทความสัมภาษณ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ถึงพระกรณียกิจ ในการประพาสยุโรป และทรงศึกษาต่อทางด้านแฟชั่น โดยได้นำทูลตอบคำถามจาก 3 ดีไซเนอร์, 3 นางแบบ และ 3 สไตลิสช่างแต่งหน้าทำผม

คำถามโดยกลุ่มดีไซเนอร์ไทย

T-ra, ธีระ ฉันทสวัสดิ์
คำถาม : พระองค์หญิงทรงคิดว่า ประสบการณ์ในต่างประเทศ ตรงจุดไหนที่พระองค์หญิงรับรู้รับทราบ และทรงเห็นว่าดีมาก

ท่านหญิงทรงตอบ : อย่างแรกที่ได้ไปที่เมืองนอก ทำให้ได้รับรู้รับทราบว่า บ้านเราควรให้การศึกษาความรู้ ว่าโลกแห่งความเป็นจริงของแฟชั่น คืออะไร ซึ่งมันมีความลึกซึ้ง, เป็นประวัติศาสตร์, เป็นศิลปะ, เป็นธุรกิจ, เป็นองค์ความรู้ ซึ่งจริงๆแล้ว แฟชั่นก็ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย พูดง่ายๆว่า เราควรปรับความเข้าใจจริงๆว่า แฟชั่นมันคืออะไร ศิลปะคืออะไร แล้วจากนั้นค่อยมาพัฒนาตัวเรา และตัวบุคลากร หลังจากนั้น เราดูสิว่า เรามีองค์กรอะไรรองรับ อย่างที่ประเทศฝรั่งเศส มีสมาพันธ์หลายสมาพันธ์ อย่างเช่น The Fédération française de la couture , du prêt-à-porter des couturiers et des créateurs de mode รองรับโดย Mr. Didier GRUMBACH อาจารย์ที่สอนท่านหญิง และก็เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่ท่านหญิงศึกษาอยู่ชื่อ Ecole de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนการตัดเย็บเฉพาะทาง หรือ Haute couture

เมืองเราก็ควรมีโรงเรียนที่สอนแบบเฉพาะทางด้าน หรือไม่ก็สอนแบบเข้มข้นให้ถึงน้ำถึงเนื้อ ทั้งประวัติศาสตร์, ทั้งศิลปะ, และควรแตกแขนงด้านการเรียนการศึกษาให้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้มีงานรองรับ อย่างเช่นคนที่เรียนจบมาทางดีไซเนอร์ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นดีไซเนอร์ ให้เป็น Illustrate ออกแบบเสื้อผ้าอย่างเดียวก็ได้, บางคนจบแฟชั่นมา ก็ไปทำการตลาด, ไปทำประชาสัมพันธ์ หรือจบศิลปะก็สามารถทำได้หลากหลายอาชีพ อย่างเด็กบางคนชอบ textile มาก ก็ต้องต่อยอดให้ถึงที่สุด โดยขอให้มีการแนะแนว เปิดศิลปะให้ชัดเจน เปิดหลากหลายวิชา และอีกอย่างคือ เราต้องรู้รากเหง้าของประเทศเรา อย่างเช่น โยจิ ยามาโมโต้ เขาขายได้เพราะเขาเป็นญี่ปุ่น มีความเป็นเซน มีidentity ที่ชัดเจนจับต้องได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องคิด นี่คือสิ่งที่ท่านหญิงอยากให้พัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เข้าถึงจุดนี้

พูดตรงๆ อย่างท่านหญิงเรียนจบจุฬา และดูเหมือนเก่งมาก แต่เมื่อไปศึกษาที่โรงเรียนนี้ ท่านหญิงสู้เขาไม่ได้เลย ท่านหญิงต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการปรับตัว ในการเข้ากับคนอื่น เพราะที่ฝรั่งเศสเก่งกว่าท่านหญิง คือ คนทุกคนที่โน่นเก่งกว่าท่านหญิงฯ

นักเรียนที่โน่นมีไม่เยอะ แต่มีหลายกลุ่มหลายแขนง และมีหลากหลายอายุ หลักสูตรที่เรียนมีประมาณ 20กว่าคน บางคนที่อายุเท่าๆกับท่านหญิง, บางคนก็ทำงานแล้ว, บางคนก็มาเรียนคอร์สเสริม, แต่เด็กนักศึกษาบางคนอายุ 20ปี ที่โน่น เก่งกว่าเด็กไทยที่นี่, งานเนี้ยบ, พื้นฐานแน่น สามารถเอาเด็กพวกนั้นมาเป็นดีไซเนอร์ที่นี่ได้ 10กว่าคน อีกอย่างคือที่โรงเรียนนี้จะมีการแบ่งชัดเจน ว่าเป็นดีไซเนอร์, ช่างแพทเทิร์น, เขาชัดเจนว่าอยากเป็นอะไร อย่างเรื่องแพทเทิร์น model maker จะมีคนบอกว่าตั้งเป้าว่าอยากเป็นเลิศด้านนี้ บ้านเราควรมีโรงเรียนลักษณะนี้เช่นกัน ครูสอนก็สำคัญ ครูที่สอนท่านหญิงอยู่ใน Christian Dior สมัยรุ่งเรือง ครูสอนเนี้ยบมาก เขาวัดการสอย, การเนาเป็นเซ็นติเมตร เป็นมิลลิเมตร ซึ่งละเอียดมาก ท่านหญิงทำจนเล็บบิ่นไปหลายนิ้วเช่นกัน และที่โน่นเขามีโรงเรียนอีกโรงเรียนนึงที่สอน Marketing & Fashion เป็นโรงเรียนเฉพาะทางเช่นกัน ขอให้เป็นอย่างนั้น และหาคนเก่งๆมาสอน

Senada, ชนิตา ปรีชาวิทยากุล
คำถาม : พระองค์หญิงทรงได้อะไร จากการที่ได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศบ้าง และมีสิ่งใดที่แตกต่างไปจากการใช้ชีวิตในเมืองไทย

ท่านหญิงทรงตอบ : หลายอย่างมาก คือ ท่านหญิงชมพิพิทธภัณฑ์ทุกอาทิตย์ๆละ 2วัน, ชมบัลเล่ห์, ชมโอเปร่า, ฟังดนตรี หรือแม้กระทั่ง ชมนิทรรศการถ่ายรูป แล้วก็ไปนั่งดื่มกาแฟร้านธรรมดาทั่วไป

ชีวิตเมืองนอก มีทั้งสุข และทุกข์ ความทุกข์ก็คือ คิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อน ของหลายๆอย่างอาจไม่เท่าเมืองไทย หมายความว่า ในไทย ทุกคนรู้ว่าฐานะท่านหญิงเป็นใคร แต่ที่ฝรั่งเศสไม่ได้ถือเรื่องฐานันดรศักดิ์ ท่านหญิงอยู่ที่ฝรั่งเศสก็นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินเหมือนคนอื่น, นั่งรถเหมือนคนอื่น, ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่น, บางอย่างใช้อย่างเมืองไทยไม่ได้ ก็ต้องใช้คำว่า “รอคอย” อาจจะมีคำถามในใจเล็กน้อย “ทำไม” แต่ก็ชีวิตต้องสู้ ใส่ส่วนเรื่องเรียนดีมาก เพียงไม่มีกฏเข้มเท่าบ้านเรา นักเรียนบางคนสามารถโดดเรียนได้เป็นวันๆ, หนีไปเที่ยวได้เป็นวันๆ แต่ท่านหญิงไม่ทำ ท่านหญิงคิดว่าหน้าที่คือหน้าที่ ไปเรียนไปทำงานไปเอาประสบการณ์ เจอเพื่อน นี่คือล้ำค่ามาก แล้วก็เอาสิ่งที่เราเห็น เอาสิ่งที่ดีๆจากกเขามาพัฒนาให้เต็มที่กับบ้านเรา ที่โน่นท่านหญิงชอบใช้ชีวิตแบบเด็กศิลปะ (Artist) เรียนเสร็จทำงานเสร็จ ก็ไปดื่มกาแฟ, ประชุม, ชมศิลปะ ท่านหญิงไปต่อคิวชั่วโมงนึงดูนิทรรศการ Yves Saint Laurent ก็ทนได้ ไม่มีอภิสิทธิ์โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส แต่มีอุปสรรคสำหรับท่านหญิงมั้ย ก็ไม่มี ท่านหญิงรับได้

Flynow, ชำนัญ ภักดีสุข
คำถาม : เมืองปารีส มี Secret place ที่พระองค์หญิงชอบ (แอบไป และไม่บอกพระสหาย) ไม่ค่อยมีคนไทยรู้ สถานที่ไหนที่โปรดที่สุด และเพราะสาเหตุอะไร

ท่านหญิงทรงตอบ : ไม่บอก เดาเอา ขอเก็บเป็นความลับ, ถ้าเป็นย่านที่ชอบไปคือ Le Marais และชอบดื่มชา Mariage Frères ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

คำถามโดยกลุ่มสไตลิสช่างแต่งหน้าทำผม

สมพร ธีรินทร์, Hair Stylish
คำถาม : พระองค์หญิงมีความเห็นในการทำคอลเลคชั่น ที่มีการผสมผสานความเป็นไทย และยุโรป ในรูปแบบ Mix & Match อย่างไรบ้าง

ท่านหญิงทรงตอบ : Identity, Personality, ความเป็นตัวต้น ฉันมาจากไหน ฉันรู้รากเหง้าของตัวเอง ฉันเป็นใคร แล้วเราจะเอาความเป็นตัวฉันไปใส่ในตัวฝรั่งอย่างไร โดยไม่มีการเสียรูปแบบทั้งสองฝ่าย เช่นใส่ความเก๋ไก๋ หรือใส่ความหวือหวา เป็นบางซีซัน เป็นบางสไตล์

สรวุฒิ ฉัตรกุล ณ อยุธยา, Make Up Artist
คำถาม : พระองค์หญิงทรงทำงานอะไรบ้าง อยากให้เล่าให้ฟังในส่วนที่มีส่วนร่วมในการทำงานกับแบรนด์ดัง

ท่านหญิงทรงตอบ : เริ่มตั้งแต่แบรนด์ Balmain, Armani, Salvatorre Ferragamo, Loro Piana (ชำนาญในการผลิตผ้าวูล และส่งให้กับ Hermes, Jean-Paul Gaultier) Christian Dior เป็นแบรนด์ต่อไปที่ท่านหญิงจะไปร่วมงานด้วย

ท่านหญิงทำงานตั้งแต่รากหญ้า จนถึง บริหาร เริ่มตั้งแต่ หกโมงเช้า ซึ่งแบรนด์ดังจะมีออฟฟิตอย่างน้อย 2ออฟฟิต ในเมืองที่นึง นอกเมืองที่นึง แล้วบางวันบางแบรนด์ เขาจะย้ายไปประชมอีกออฟฟิต ซึ่งได้ฝึกพลังมาก และบ่อยมากที่ต้องขนของเอง บางครั้งตอนอยู่ Armani ฝ่ายการตลาด ต้องแข่งกับเพื่อนร่วมงานฝรั่งผู้ชาย ในการตื่นเช้า และเข้างานก่อนใครๆ จนกระทั่งบางที ต้องเปิด BlackBerry ตรวจอีเมล์ แล้วโทรหาว่าเพื่อนที่ทำงานว่าอยู่ไหน เขาบอกว่าอยู่รถราง เท่านั้นแหละ กระโดดขึ้นรีบไป บางครั้งก็ไปถึงหลัง 10นาที แล้วก็มีการแซวกันไปแซวกันมา เธอมาสาย ฉันมาสาย เหนื่อยมากในการทำงานที่จริงจัง และแข่งกับเวลาอย่างมาก จิตเสื่อมไปอยู่พักนึง

-มีการทำงานแผนกออกแบบเต็มขั้นอยู่ช่วงนึง ที่ Salvatorre Ferragamo ทำตั้งแต่เก็บของ, ศึกษาแบรนด์, พีอาร์น้ำหอม และ Salvatorre Ferragamo ที่กำลังจะออกมาเร็วๆนี้ บางเซ็ตท่านหญิงทำ Catalogue ผ้าพันคอ รุ่นก่อน Summer ท่านหญิงทำงานหัวฟู, ถอดรองเท้า, ชายเสื้อหลุดจากขอบกางเกง, บางครั้งก็ต้องวิ่งไปอีกชั้น เพื่อเอาแว่นตาจากอีกแผนก และถกเถียงกับอีกแผนกเพื่อทำงานให้สำเร็จ, ต้องคุยกับสไตลิส รวมถึงพีอาร์ว่า ตรงนี้ตรงนั้นทำอย่างไร เขียนประชาสัมพันธ์อย่างไร แขกวีไอพีมา ก็ต้องนั่งคุยรับรองต้อนรับ

-บางทีต้องนั่งเป็นสาวโรงงานในการผลิตกระเป๋าหนึ่งเพื่อให้รู้ว่า ทำไม Hermes ถึงแพงระดับนั้น และทำให้ทราบว่าโรงงานที่โน่นทำงานเนี้ยบมาก ตึงมาก สุดพลังจริงๆ

-ในการทำงาน Armani ท่านหญิงอยู่ในทีมโรงแรม Armani ในช่วงก่อนเปิดโรงแรม Armani (ตัวโรงแรม อยู่ที่ดูไบ)

-ตอนอยู่ Balmain ก็อีกแบบนึง คนจะจำกัดหน่อย ต้องทำงานแข่งกับคนเอเซียด้วยกัน อย่างเกาหลี, ญี่ปุ่น, จีน เขาทำงานกันได้ดีมากๆ

-ท่านหญิงเป็นที่ผู้ช่วยอันดับท้ายๆ ก็คือลำดับที่ 5 ลำดับที่ 4 บ่างแห่งท่านหญิงก็เป็นดีไซเนอร์ลำดับที่ 4-5 เช่นกัน ท่านหญิงใช้วิธีไปตีสนิทคนลำดับที่ 1 ไปนั่งคุยทำความสนิทสนม เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ท่านหญิงไม่เคยเห็นว่าทำได้อย่างไร และทำให้รู้ว่าทำอย่างไร เวลาไปทำงานกับคนกลุ่มนี้ อย่าEgo ต้องคิดเสมอว่า ท่านหญิงไม่มีอะไรเลย หัวสมองท่านหญิงว่าง ท่านหญิงไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่ทำมาหลายคอลเลคชั่น ท่านหญิงไม่ใช่ดีไซเนอร์ยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย และท่านหญิงก็ไม่ใช่คนเก่ง แต่นี่ท่านหญิงมาเพื่อเก็บประสบการณ์ เพื่อนำไปต่อยอด พวกนี้เขาเก่งกว่าท่านหญิงล้านเท่า

อภิวัฒน์ (หนุ่ม) ยศประพันธ์, Fashion Stylish
คำถาม : แรงบันดาลใจจากยุโรป หรือสถาบัตยกรรมตะวันตก ส่งผลต่องาน Sirivannavari Maison อย่างไรบ้าง

ท่านหญิงทรงตอบ : ส่งผลอย่างมาก อย่างเช่น Maison เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า บ้าน เหมือน Armani Casa อย่างแรกที่ให้ความรู้สึก คือ ประตูบ้าน และที่ฝรั่งเศสมีกันสาดลักษณะแนว Art Nouveau ประตูแทบทุกอันจะมีความโค้ง เป็นศิลปะ นี่คือสิ่งแรกที่อยากสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกผ่านโลโก้ออกมา

ต่อมาคือ ให้อยู่อย่างไร น่าจะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม Living By มีลักษณะคือ Cosy มีกลิ่นหอม, อบอุ่น มีดอกไม้ใบหญ้า มี good atmosphere Furniture ที่โอเคเป็น “ชันนาเลีย” ที่ไม่ใช่มาจากคริสตัล แต่เป็นอะไรที่ล้ำ คือเป็นนสไตล์ How to live ที่นำมาปรับเข้าการใช้ชีวิตกับตัวเราในเมืองไทย

Art คือแรงบันดาลใจที่ได้จากศิลปะวัฒนธรรม
Design คือของที่มีประโยชน์ใช้สอย
Style คือการใช้ชีวิต
Personal คือตัวตน

คำถามโดยกลุ่มนางแบบ

พิชญ์สินี (ศิ) ตันวิบูลย์ (ศิ)
คำถาม : ความใฝ่ฝันสูงสุดของพระองค์หญิงคืออะไร?, ท่านหญิงทรงเป็นนักกิจกรรมตัวยง ทั้งพระภารกิจ , Designer, นักแบดมินตัน , นักขี่ม้า , นักเต้นบัลเล่ต์, Artist, DJ อยากทราบว่ามีสิ่งไหนอีกที่ท่านหญิงใฝ่ฝันว่าอยากจะทำอีกบ้าง?

ท่านหญิงทรงตอบ : อยากเป็นดีไซเนอร์, Artist เขียนรูปPainting, เขียนหนังสือกลอนฝรั่งเศส, การถ่ายรูป, การแสดง คือทุกอย่างทุกลมหายใจ อยากให้มีศิลปะอยู่ในนั้น

ในสายอาชีพที่อยากไปให้ถึงจุดที่ได้นำผลงานการออกแบบไปลงในงานศิลปกรรมยานยนต์ อย่างเช่น การตกแต่งภายในรถยนต์, เครื่องบิน, เรือยอร์ช, หรือร้านอาหาร ซึ่งได้เคยมีการทำงานในลักษณะนี้ในดีไซเนอร์แบรนด์ดังๆอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นความภูมิใจ และได้รับเกียรติอย่างสูง

และอีกอย่างคือ การร่วมงานกับดีไซเนอร์ฝรั่งในฐานะ Co-Designer ท่านหญิงไม่อยากย่ำอยู่กับที่ ท่านหญิงมีพลังที่ต้องการทำงานในเชิงสร้างสรรค์ผลงานออกมาตลอดเวลา

หลังจากนั้น ท่านหญิงอยากแบ่งปันประสบการณ์ และไอเดียในมุมมองต่างๆให้กับคนรุ่นใหม่ได้รับรู้รับทราบ

มาริสา แอนนิต้า –
คำถาม : คุณสมบัติที่ดีของนางแบบของท่านหญิง
ท่านหญิงทรงตอบ : Perfect, รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร รู้หน้าที่, มีวินัยกับตัวเอง, ตรงต่อเวลา, ดูแลหุ่น, ดูแลผิว, รู้จักการแต่งตัว

เมื่อเป็นนางแบบ และทำงานกับดีไซเนอร์ นางแบบต้องเป็น Canvas ผืนผ้าใบ, ท่านหญิงจะไม่ใช้คำว่า “ไม้แขวนเสื้อ” คุณคือผืนผ้าใบที่ดีไซเนอร์วาดภาพงานศิลปะลงไป เมื่อจบงาน คุณก็คือตัวคุณ ต้องมีการแยกแยะ ฉันเป็นนางแบบ ไม่ใช่ดารา หรือฉันเป็นดารา ไม่ใช่นางแบบ และสุดท้ายคือ ต้องมีความเป็นมืออาชีพ

มารีญา ลินน์ เอียเรี่ยน –
คำถาม : พระองค์หญิงได้เดินตามเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงอะไรบ้าง

ท่านหญิงทรงตอบ : ท่านหญิงไปเมืองนอก ไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ท่านหญิงเป็นเจ้าหญิงไม่ได้นั่งเครื่องบิน First Class แต่เป็นชั้น Economy class, นั่งรถไฟระหว่างเมือง, นั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งก็พยายามใช้ตามกำลัง และฐานะ ในบางสิ่งที่อยากได้ ก็ต้องบริหารเงินทอง หรืออย่าง ค่าบ้าน, ค่าน้ำไฟ, ค่าอาหาร หรืออาทิตย์นี้ไปทานเข้าข้างนอก จะใช้เท่าไหรอย่างไร และไม่เที่ยวจนเสียงานเสียการ รวมถึงการรู้จักเลือกเพื่อนที่ดี ท่านหญิงมีเพื่อนน้อย แต่ทุกคนดีมีคุณภาพ

ด้วยความเมตตาจากพระองค์หญิงที่ทรงประทานอนุญาตให้เข้าเฝ้าสัมภาษณ์ นับเป็นเกียรติสูงสุดอันเปรียบมิได้ ทางทีมงาน thaicatwalk.net ดีใจอย่างสุดซึ้ง

ข้อมูลโดยสังเขบ

SIRIVANNAVARI MAISON

ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ตกแต่งบ้านหลากสไตล์ ซึ่งเปี่ยมไว้ซึ่งรสนิยม ประเภทแรก คือ ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหอม ซึ่งประกอบด้วย เทียนหอม ก้านหอมระเหย และ สเปรย์ปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์อีกกลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องใช้ และของประดับ อันประกอบด้วย แจกันแก้ว กรอบรูป เชิงเทียน และ ชุดผ้าประดับโต๊ะอาหาร (ภาพข่าวงานเปิดตัว)

ECOLE DE LA CHAMBRE SYNDICALE DE LA COUTURE PARISIENNE

เอโกล เดอ ลา ฌอมป์ ซินดิกัล เดอ ลา กูตูร์ ปารีเซียง (Ecole De la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne) คือสถาบันเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกในด้านของการสอนการออกแบบและตัดเย็บแฟชั่นชั้นสูง สถาบันนี้ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) โดยสมาพันธ์แฟชั่นชั้นสูง (หรือ Chambre Syndical de la Haute Couture) ซึ่งมุ่งเน้นการสอนเทคนิคการตัดเย็บออกแบบระดับสูง ซึ่งจะมีความซับซ้อนในโครงสร้างและรายละเอียดต่างๆเป็นอย่างมาก จึงทำให้สถาบันนี้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสูงออกสู่ตลาดแฟชั่นโลกได้ ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่จบการศึกษาจากสถาบันนี้ได้แก่ อังเดร กูเรจส์ (André Courreges) อิเซ่ มิยาเกะ (Issey Miyake) ฌอง หลุยส์ เชอเร่ (Jean-Louis Scherrer) วาเลนติโน่ (Valentino) และ อีฟ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent)

LORO PIANA

โลโร่ เพียน่า (Loro Piana)ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) โดย มร.เพียโตร โลโร่ เพียน่า (Pietro Loro Piana) ในเมืองกวาโรน่า (Quarona) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี โดยเป็นกิจการครอบครัวที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านการผลิตเส้นใยผ้าวูล และแคชเมียร์และยังเป็นผู้ผลิตผ้ารายใหญ่ให้แก่อุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูงทั่วโลก

ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 70 เซอร์จิโอ้ (Sergio) และปิเอร์ ลูอิจิ (Pier Luigi) ทายาทแห่งตระกูลเพียน่า ได้เข้ามาบริหารกิจการต่อ และได้ขยายกิจการของครอบครัวด้วยการขึ้นเป็นผู้นำแห่งการผลิตผ้าและยังเปิดร้าน Loro Piana ไปยังทั่วโลก

ในปัจจุบัน Loro Piana มีร้านค้าทั้งสิ้น 135 ร้านทั่วโลก โดยนำเสนอสินค้าแฟชั่นสุดหรูหลากหลายประเภท อาทิ เสื้อผ้าสำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เสื้อผ้าเด็ก เสื้อถักไหมพรม เครื่องประดับแฟชั่น ผลิตภัณฑ์ประดับบ้าน รองเท้า กระเป๋า และเครื่องหนังประเภทต่างๆ

SALVATORE FERRAGAMO

ซัลวาโทเร่ เฟอร์รากาโม่ (Salvatore Ferragamo) ถูกก่อตั้งขึ้นโดย มร.ซัลวาโทเร่ เฟอร์รากาโม่ เมื่อปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี โดยมีชื่อเสียงด้านการผลิตรองเท้าดีไซน์ชั้นเยี่ยม หลังจากการเสียชีวิตของ มร.เฟอรากาโม่ ในปีค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) มาดามวันดา เฟอร์รากาโม่ (Wanda Ferragamo) ได้เข้ามาบริหารธุรกิจของบริษัทซัลวาโทเร่ เฟอรากาโม่ และได้ขยายกิจการของบริษัทจนเติบโตจนมีร้าน Ferragamo มากกว่า 550 ร้านทั่วโลกโดยนำเสนอผลิตภัณฑ์มากมายหลายประเภท ตั้งแต่ รองเท้า เครื่องหนัง เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม เครื่องประดับ และน้ำหอม

ร้านซัลวาโทเร่ เฟอร์รากาโม่ เป็นที่ยอมรับในด้านของการออกแบบรองเท้าอันสร้างสรรค์ และการเลือกใช้วัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งเป็นอาจเป็นผลมาจากการที่มร.ซัลวาโทเร่ เฟอร์รากาโม่ ได้จบการศึกษาทางด้านสรีระวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอเนีย (University of Southern California) ผลงานการออกแบบรองเท้าอันเลื่องชื่อของเขาได้แก่ รองเท้ารุ่นเอกลักษณ์ของเฟอร์รากาโม่อย่างรองเท้าบัลเล่ต์ส้นแบนตัดเย็บจากหนังแก้วภายใต้ชื่อ “วาร่า” (Vara) รองเท้าส้นตึก รองเท้าส้นเหล็ก รองเท้าทองคำ 18 กะรัต และรองเท้าส้นเข็มที่ออกแบบให้มารีลีน มอนโร

BALMAIN

มองซิเออร์ ปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) ได้ก่อตั้งห้องเสื้อบัลแมงขึ้นบนถนนฟรองซัวส์ที่หนึ่ง (Rue François 1er) ใจกลางกรุงปารีส ในฤดูใบไม้ร่วงปีพ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาลูกค้าต่างหลั่งไหลกันเข้าร้านโดยประสงค์จะยลโฉมเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงภาพลักษณ์ใหม่ของผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้หญิงที่ปราศจากร่องรอยของสงคราม และเปี่ยมความสง่างามและเสน่ห์อันเหลือล้นด้วย และพร้อมป่าวประกาศรับการกลับมาของเสื้อผ้าหรูหราเพียบพร้อมด้วยการประดับประดาลายปักสุดประณีต

ห้องเสื้อ ปิแอร์ บัลแมง คือภาพลักษณ์ของความหรูหรา ที่ได้รับการยอมรับจาก บรรดาพระราชินี เจ้าหญิง และดาราชื่อดัง อีกทั้งยังเป็นแบรนด์เสื้อที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วย

เมื่อมองซิเออร์ปิแอร์ บัลแมง เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) มองซิเออร์อีริค มอร์เทนเซ่น (Erik Mortensen) อดีตผู้ช่วยอันดับหนึ่งของบัลแมงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิดที่สุดของเขาก็ได้รับช่วงต่อ เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณของห้องเสื้อชั้นสูงแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป

และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) เป็นต้นมา หน้าที่ผู้ออกแบบคอลเลคชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับสุภาพสตรีก็ได้ตกเป็นของ คริสตอฟ เดอคาร์แนง (Christophe Decarnin) โดยดีไซเนอร์ผู้นี้ได้เนรมิตโฉมให้ห้องเสื้อ Balmain กลับมาโด่งดังอย่างมากอีกครั้งในปัจจุบัน

CHRISTIAN DIOR

ห้องเสื้อคริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) ที่บ้านเลขที่ 30 ถนนมองตานจ์ (Avenue Montaigne) กรุงปารีส โดยมองซิเออร์ คริสเตียน ดิออร์

ในปี 1947 เขาได้เปิดตัวแฟชั่นแนวใหม่นามว่า “New Look” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก นั่นคือ เสื้อแบบไหล่แคบ และกระโปรงยาว ซึ่งมาแทนที่เสื้อแบบไหล่กว้างและกระโปรงสั้นแบบตรงในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อผ้าแบบ “New LooK” ได้ปฏิวัติวงการแฟชั่นสตรี และทำให้ปารีสกลายเป็นศูนย์กลางของโลกแฟชั่น

การออกแบบของดิออร์ในยุคต่อมา เช่น ชุดแซ็ค (ชุดสตรีปล่อยยาวไม่มีเข็มขัด) แบบทรงตรง ยังคงทำให้ดิออร์เป็นผู้นำแฟชั่นในระดับสากล จนเมื่อดิออร์เสียชีวิต ก็ได้มีบรรดาดีไซเนอร์เข้ามารับช่วงการออกแบบต่อ ตั้งแต่ อีฟส์ แซงต์ โลว์รองท์ (Yves Saint Laurent) มาร์ค โบฮาน (Marc Bohan) จีอานฟรังโก้ เฟอร์เร่ (Gianfranco Ferre) และในปัจจุบันคือ จอห์น กัลลิอาโน (John Galliano)

ในปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ห้องเสื้อดิออร์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton กลุ่มบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรูหราอันเลื่องชื่อ ซึ่งก่อตั้งโดยเบอร์นาร์ด อาร์โนลท์ (Bernard Arnault) โดยห้องเสื้อดิออร์ยังคงเป็นแบรนด์แนมชั้นนำในโลกแฟชั่นและมีผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลายประเภท อาทิ เสื้อผ้าบุรุษและสตรี เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ซึ่งล้วนได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

GIORGIO ARMANI

กลุ่มบริษัทจิออร์จิโอ อาร์มานี่ (Giorgio Armani) คือหนึ่งในบริษัทแฟชั่นสุดหรูชั้นนำของโลก โดยมีโรงงานผลิตจำนวน 13 แห่งและพนักงานทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน บริษัทจิออร์จิโอ อาร์มานี่ นำเสนอผลิตภัณฑ์มากมายหลายประเภทตั้งแต่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าชั้นสูง เครื่องประดับ แว่นตา นาฬิกา น้ำหอม เครื่องสำอาง ภายใต้แบรนด์ต่างๆที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของกลุ่มลูกค้า ได้แก่ Giorgio Armani Privé, Giorgio Armani, Emporio Armani, Armani Collezioni, AJ | Armani Jeans, A/X Armani Exchange, Armani Junior, Armani Teen, Armani Baby and Armani Casa.

จิออร์จิโอ อาร์มานี่ ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในเมืองมิลานเมื่อปีค.ศ. 1975 (พ.ศ.2518) โดยมร.จิออร์จิโอ อาร์มานี่ และมร.เซอร์จิโอ้ กาลิโอตตี้ (Sergio Galeotti) โดยเริ่มแรกห้องเสื้อแห่งนี้ได้นำเสนอเพียงเสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ชื่อเสียงของห้องเสื้อแห่งนี้โด่งดังไปทั่วโลกในช่วงต้นของทศวรรษที่ 80 ด้วยเสื้อสูทตัวโคร่งแบบ unstructured ที่บรรดานักแสดงฮอลลีวู้ดเลือกสวมใส่

ในปีค.ศ. 2005 (พ.ศ.2548) ห้องเสื้ออาร์มานี่ได้เปิดตัวแบรนด์เสื้อชั้นสูง ‘อาร์มานี่ พรีเว่’ (Armani Privé) เพื่อเป็นการตอบรับความต้องการของลูกค้า ที่ชื่นชอบเสื้อผ้าหรูหราเหนือระดับที่ได้รับการตัดเย็บเพื่อตนโดยเฉพาะ

ปัจจุบันแบรนด์ จิออร์จิโอ อาร์มานี่ ได้ขยายอาณาจักรของตัวเองออกนอกขอบเขตของเสื้อผ้าแฟชั่นไปยังธุรกิจประเภทอื่น อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหาร เครื่องสำอาง โดยล่าสุดได้เปิดตัวโรงแรม ARMANI แห่งแรกของโลกที่เมืองดูไบ

Published by Jade-ThaiCatWalk

Editor - ThaiCatwalk.Com and Runway Photographer PR, Brand Acknowledgement, Advertorial