FashionShow : Between, นิทรรศการศิลปะการออกแบบและศิลปะ
Academy : Silpakorn University
Venue : Silpakorn University
Date/Time : 17 February 2011, 18.00
Silpakorn U. : Between, นิทรรศการศิลปะการออกแบบและศิลปะ
Click here to Google Photo Gallery
ยุคทองของเอเชีย…เทรนด์ล่ามาแรงในพ.ศ.นี้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ ‘ศิลปะ’ ด้วยเทรนด์ศิลปะการออกแบบแถบเอเชียกลายเป็นที่กล่าวขานขึ้นชั้นในระดับเวทีโลก…มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาชาวิชาศิลปะการออกแบบนานาชาติ ได้จับมือร่วมกับเมืองมหานครแห่งการออกแบบ ‘สาธารณรัฐเกาหลี’ จากมหาวิทยาลัย Hongik ในนิทรรศการ “ BETWEEN” โครงการแสดงผลงานด้านศิลปะการออกแบบและศิลปะแฟชั่นนานาชาติ ที่นำเสนอสุนทรียแห่งความงามด้วยแนวคิดใหม่ผ่านมุมมองศิลปะหลากหลายสาขา ผศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ประธานกรรมการดำเนินงานหลักสูตรบัณฑิตศึกษาฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และประธานโครงการงานนี้ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว ที่ได้ร่วมมือกับ ศาสตราจารย์ คาน โฮ-ซุป ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและหลงใหลมนต์เสน่ห์ในโลกของแฟชั่น ซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านศิลปะการออกแบบลวดลายผ้าและแฟชั่นดีไซน์ที่ Hongik มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะจากสาธารณรัฐเกาหลี
“การจัดงานโครงการแสดงผลงานด้านศิลปะและการออกแบบ นี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองและโลกทรรศน์ของนักศึกษาและบุคลากรให้เปิดกว้างในการรับรู้และแลกเปลี่ยนทางด้านความคิดและความรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษาที่แตกต่างกัน จะส่งผลถึงระบบการทำงานและกระบวนการคิดย่อมแตกต่างกันไปด้วย คณะกรรมการดำเนินงานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ จึงจัดให้มีการแสดงผลงานด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อให้นักศึกษาได้นำประสบการณ์และความรู้ที่ได้ในการจัดโครงการในครั้งนี้มาผลักดันให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาวิทยานิพนธ์และเพิ่มศักยภาพเพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้เชิงศิลปะที่ให้เกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์ทฤษฎีใหม่ทางศิลปะ …นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่า การเรียนการสอนงานดีไซน์ในมหาวิทยาลัยของไทยก็มีศักยภาพทัดเทียมกับต่างประเทศซึ่งในการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการบรรยากาศของการศึกษาวิจัย การค้นคว้าทางวิชาการด้านศิลปะและการออกแบบ ในการที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่วงการวิชาชีพการออกแบบในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งยังผลิตนักวิชาการด้านการออกแบบให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของวงการออกแบบไทยในการก้าวย่างสู่ทศวรรษใหม่ ” ผศ.ดร.จิรวัฒน์ วงศ์พันธ์เศรษฐ์ กรรมการดำเนินงานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ ได้กล่าวเสริมว่า
“ในหลักสูตรของคณะมัณฑนศิลป์จะทั้งหลากหลายสาขา ทั้งการออกแบบภายใน ออกแบบนิเทศศิลป์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ประยุกตศิลปศึกษา เครื่องเคลือบดินเผา ออกแบบเครื่องประดับ และออกแบบเครื่องแต่งกาย ซึ่งแต่ละคนที่จบและเชี่ยวชาญในสาขาของตนแล้ว แต่ในโลกสมัยใหม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และสามารถที่จะเอาสาขาอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรามาสร้างสรรค์งานอื่นๆ ได้ด้วย คือต้องวิจัย ค้นคว้า พัฒนา และสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ทางศิลปะและการออกแบบภายใต้ศูนย์กลางแหล่งรวมความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มพูนทักษะและขยายศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์ให้เป็นผลผลิตในระดับสากล”
นักศึกษาปริญญาเอก จบและอยู่ในแวดวงออกแบบภายในมาหลายปี และเป็นอาจารย์สอนวิชาออกแบบภายในที่ศิลปากรในปัจจุบัน ‘ผศ.ดร. ร.ต.อ.อนุชา แพ่งเกสร’ ได้ร่วมแสดงงานนิทรรศการครั้งนี้ ด้วยศิลปะแนวใหม่จากอินทีเรียส์สู่ศิลปะการจัดวางอาหาร ‘ Food & Stick ’
“ประเทศของเราเป็นเมืองเกษตรกรรม เรื่องของอาหารการกินในเมืองไทยจึงเป็นแหล่งที่สมบูรณ์ที่สุด อาหารไทยมีชื่อเสียงติดอันดับ 3โลก รองจากอิตาลีและฝรั่งเศส จึงเป็นแรงบันดาลใจนำสิ่งนี้มาสร้างคุณค่าสร้างสรรค์นำเสนอทฤษฎีใหม่ของศิลปะการจัดวางอาหาร …โดยยังคงเอกลักษณ์รสชาติของอาหารไว้ดั้งเดิม แล้วใช้ศิลปะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้มีความทันสมัย ทันกับยุคใหม่” สำหรับ ผศ.วิทวัน จันทร นักศึกษาอีกท่านหนึ่ง มีความหลงใหลในลวดลายเทคเจอร์ของผืนผ้ามาตั้งแต่สมัยร่ำเรียนปริญญาโทที่สถาบันศิลปะและการออกแบบ เบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ จนผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านการออกแบบลายผ้าและแฟชั่นดีไซน์ ก่อนที่จะมาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก นำเสนอผลงานในชุด ‘ High Tech and Low Tech ’ “สร้างความสัมพันธ์ระหว่างงานหัตถกรรมในสมัยก่อนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งวัสดุและความความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาผสมผสานให้เข้ากัน โดยนำเอาลวดลายผ้าตีนจกมาสร้างสรรค์ให้เป็นมีความร่วมสมัยหรือเป็นสากลมากขึ้น” จนกลายเป็นชุดสวยทันสมัยอย่างน่าทึ่ง และ อดิเทพ แจ้ดนาลาว เชี่ยวชาญทางด้านสื่อดิจิตอลสมัยใหม่ ด้วยจบมาทางด้าน Visual Communication Design ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตามสาขาที่ร่ำเรียนอยู่หลายปี และล่าสุดประจำอยู่ภาควิชา Digital Arts & Digital Media ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงได้นำเสนอผลงานInteractive Media Installation ในชุด ‘ Media Organic ’ ร่วมกับผลงานเครื่องปั้นดินเผาของ จิรวุฒิ ด้วงอินทร์ “ผลงานเป็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยนำเสนอออกมารูปของInteractive Mediaกับศิลปะความงามของเครื่องปั้นดินเผา …แรงบันดาลใจตรงนี้เกิดมาจาก พิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะของบ้านเรามีการนำเสนอรูปแบบที่ไม่น่าสนใจ เยาวชนบ้านเราจึงไม่ได้ให้ความสนใจงานศิลปะเหมือนต่างประเทศที่สนับสนุนให้ศึกษางานศิลปะตั้งแต่เด็กเล็กๆ จึงได้ทดลองนำสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่มานำเสนอร่วมกับงานศิลปะ ที่จะทำให้ศิลปะนั้นเกิดความน่าสนใจและน่าศึกษา” ส่วนท่านอื่น รุจิรา วงษ์สามารถ นำเสนอผลงาน ‘Intercept ’ และ อนุกูล บูรณประพฤกษ์ ผู้หลงรักในศิลปะภาพถ่ายเป็นชีวิตจิตใจ จึงเสนอชุด ‘ Journey: Between ’ นอกจากนี้ยังมีศิลปินไทยท่านอื่นที่จะมาร่วมสร้างสีสันโลกศิลปะทฤษฎีใหม่ที่น่าจับตา อาทิ ชลิต นาคพะวัน, จิตต์สิงห์สมบุญ,อินทิรา ทัพวงศ์ และสไตลิสต์แฟชั่น บัญชา ชูดวง และไฮไลต์โชว์ศิลปะแฟชั่นดีไซน์ ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Hongik แห่งสาธารณรัฐเกาหลีอีก 50ชุด
พบกับความอลังการ ตื่นตาตื่นใจในโลกความงามของศิลปะ BETWEEN ได้ในระหว่างวันที่ 17 – 25 กุมภาพันธ์ 2554 ทุกวันจันทร์ – เสาร์ ตั้งเต่เวลา 10.00 – 18.00 น.