TIFA 2016
โครงการ “THAILAND INNOFASHION AWARDS 2016 หรือ TIFA 2016” การประกวดด้านการออกแบบแฟชั่น โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์
8 June 2016 @ The Emquartier
กสอ.ประกาศผลการออกแบบแฟชั่น “TIFA 2016”
เฟ้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ พัฒนาต่อยอดสู่ดีไซเนอร์มืออาชีพ
จาก 3 สาขาการออกแบบ รวมมูลค่ารางวัลกว่า 5 แสนบาท
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ประกาศผลรางวัล “Thailand Innofashion Awards 2016” หรือTIFA 2016 กิจกรรมการจัดประกวดด้านการออกแบบแฟชั่น เพื่อเฟ้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาสู่ดีไซน์เนอร์มืออาชีพ ภายใต้แนวคิด “THE ART OF ASIAN HANDS-CRAFT” หรือ นวัตกรรมฝีมือศิลป์แห่งเอเชีย จาก 3 สาขา สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาท พร้อมศึกษาดูงาน Hongkong Fashion Week Spring summer 2016 ประเทศฮ่องกง
Click here to Google Photo Gallery
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยที่มีการเติบโตและมีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ในประเทศเท่านั้นที่สร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่ยังขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย และเพื่อพัฒนาและต่อยอดความสามารถดังกล่าว ทาง กสอ. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ประจำปี 2559 ขึ้น ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์เป็นที่ปรึกษาโครงการ
“Thailand Innofashion Awards 2016” หรือ TIFA 2016 แบ่งการประกวดออกเป็น 3 สาขา ประกอบด้วย สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในตลาด High Fashion High Fashion ภายใต้แนวคิด “THE ART OF ASIAN HANDS-CRAFT” หรือ นวัตกรรมฝีมือศิลป์แห่งเอเชีย แรงบันดาลใจในยุค การค้าขายรุ่งเรือง เมื่อต่างชาติ ไม่ว่าจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งชาติตะวันตก เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อการค้าขาย จนเกิดการแลกเปลี่ยนทางศิลปะ วัฒนธรรมและสิ่งต่าง ๆ ขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเสรีอาเซียนทำให้เกิดการเชื่อมต่อ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดการแลกเปลี่ยนทางศิลปะ การแต่งกาย และการนำเอาสิ่งต่าง ๆ จากหลายประเทศมาปรับใช้ในการออกแบบดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยผู้ที่เข้าแข่งขันได้ร่วม Workshop การทำ Collection Design กับดีไซน์เนอร์ระดับกูรู พร้อมเรียนรู้ เทรนด์แฟชั่น และนวัตกรรมแฟชั่นที่กำลังอินเทรนด์ ซึ่งผู้ที่ชนะรางวัลแต่ละประเภทและสาขาจะได้แสดงผลงานบนเวทีแฟชั่นโชว์ รวมถึงโอกาสได้เดินทางไปเรียนรู้แนวทางแฟชั่นอัพเดทที่งาน Hongkong Fashion Week Spring Summer 2016 ประเทศฮ่องกง รวมถึงผลงานการออกแบบ หรือผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด จะมีโอกาสได้รับ การคัดเลือกให้นำเสนอผลงานต่อ buyer อาทิ Paragon, Central, The Mall, ICC เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจอีกด้วย
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI Chanapatana) กล่าวว่า ซีไอดีไอชนาพัฒน์ มีพันธกิจหลักในการมุ่งพัฒนานักออกแบบไทยให้สามารถพัฒนาฝีมือการออกแบบให้มีความทัดเทียมและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาส ให้นักออกแบบไทยได้มีเวทีในการแข่งขันเพื่อพัฒนาฝีมือเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ กสอ. จัดกิจกรรม “Thailand Innofashion Awards 2016” หรือ TIFA 2016 โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เราได้เริ่มเปิดรับสมัครผู้เข้าประกวดตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 มีดีไซเนอร์สนใจเข้าร่วมสมัครเป็นจำนวนมากกว่า 300 คน และถูกคัดเลือกอย่างเข้มข้น จนเหลือผู้เข้ารอบ 12 คน รวม 3 สาขา ที่มาร่วมผลิตผลงานต้นแบบจากแนวความคิด ซึ่งมีผลงานที่มาเดินแบบกว่า 60 ผลงาน ใช้ระยะเวลาผลิตผลงานมากกว่า 60 วัน โดยการแนะนำด้านการออกแบบและการผลิต จากวิทยากรประจำสาขา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านแฟชั่น มากกว่า 10 ท่าน เพื่อให้ผลงานออกมาได้น่าสนใจมากที่สุด สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดในแต่ละสาขาจะได้รับรางวัลเงินสดมูลค่า 60,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ ประกาศนียบัตร และโอกาสเดินทางไปดูงาน Hongkong Fashion Week Spring Summer 2016 ประเทศฮ่องกง ส่วนรางวัลรองชนะเลิศในแต่ละสาขาจะได้รับรางวัลเงินสดมูลค่า 30,000 บาท และประกาศนียบัตร รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 500,000 บาท
“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐพร้อมเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาความสามารถของนักออกแบบรุ่นใหม่ สู่ดีไซเนอร์มืออาชีพ เพื่อที่จะต่อยอดสู่การแข่งขันในระดับเอเชียหรือระดับโลก เพราะมองเห็นว่าที่ผ่านมานักออกแบบไทยมีความสามารถ มีความคิดที่ดี แต่ยังขาดโอกาสในการต่อยอดผลงาน หากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทั้งด้านความรู้ และช่องทางการขยายตลาด ก็จะสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ไม่ยาก และในปีต่อๆ ไปก็จะมีโครงการให้ความรู้และพัฒนาความสามารถแบบนี้ออกมาอีกเรื่อย ๆ” ดร.สมชาย กล่าวสรุป
สาขา สิ่งทอทอและเครื่องนุ่งห่ม
รางวัลชนะเลิศ นายจิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล
สาขา เครื่องหนังและรองเท้า
รางวัลชนะเลิศ นายฐากร ถาวรโชติวงศ์
สาขา อัญมณีและเครื่องประดับ
รางวัลชนะเลิศ นางสาวอรอุมา วิชัยกุล